'เอ๊ะ! ทำไมพูดวนไปวนมาอยู่ได้ ฟังแล้วงงไปหมด’ ความคิดแว่บนึงที่ต้องเคยเกิดขึ้น เมื่อคุณไปนั่งฟังการนำเสนอบ่อยๆ...
หรือไม่ก็เวลาที่คุณนำเสนอ คุณอาจเคยแอบเหงื่อตก เพราะเริ่มพูดวนไปวนมา จนตัวเองก็งง ไม่รู้จะพูดไปทางไหนต่อดี...
ไม่ว่าจะเป็น คนฟัง หรือ คนพูด อาการพายเรือในอ่างแบบนี้มันช่างน่าปวดใจจริงๆ
สาเหตุหลักของการพูดแบบพายเรือในอ่าง วนไปก็วนมา เกิดจากเราคิดไม่ขาดนั่นเอง เมื่อคิดวนไปวนมา เราก็พูดวนไปวนมา
แล้วเราจะปรับปรุงทักษะการคิดได้อย่างไร?
มาดูกันค่ะ
More...
ในแบบสอบถามเรื่องการนำเสนอที่ฝากให้เพื่อนและนักศึกษาที่อิงไปสอนทำ พบว่ามากกว่า 30% ของผู้ตอบ ประสบปัญหาพูดวนไปวนมาเวลานำเสนอ... ตัวเลขไม่น้อยเลย
วันนี้อิงมีแบบฝึกหัดง่ายๆ เพื่อหยุดอาการพายเรือในอ่าง มาชวนทุกคนฝึกทำกัน
จำเรื่องราวสมัยเด็กๆ ได้มั๊ยคะ เวลาเราฟังนิทาน ผู้ใหญ่มักจบด้วยประโยคว่า นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...
นี่คือ แบบฝึกหัดของเราค่ะ
ลองนึกถึงนิทานที่เราฟังตอนเด็กๆ เช่น หนูน้อยหมวกแดง ลูกหมูสามตัว และกระต่ายกับเต่า เป็นต้น แล้วลองคิดว่า นิทานเรื่องนั้นสอนให้เรารู้อะไร... อะไร คือ 3 สิ่งที่นิทานสอนเรา
(ส่วนที่ว่าทำไมต้องเป็น 3 สิ่ง ไม่ใช่ 5 สิ่ง หรือ 7 สิ่ง อธิบายไว้ในบทความนี้ค่ะ)
ตัวอย่างเช่น นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า สอนให้เรารู้ว่า 1) ความประมาทนำมาซึ่งความพ่ายแพ้ 2) ความพยายามจะช่วยให้เราถึงเส้นชัยได้ และ 3) ทุกสิ่งสามารถพลิกผันได้ สิ่งที่เราเห็นก่อนแข่งอาจไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
การฝึกคิดแบบจับใจความและแปลความหมายที่ซ่อนอยู่ จะช่วยให้เราสื่อสารสิ่งที่มีความหมายมากกว่าไปยังผู้ฟังของเรา
เมื่อเรานำเสนอความก้าวหน้าของงาน เล่าไปเรื่อยๆ วนไปก็วนมา เอาใหม่ค่ะ ถามตัวเองว่า อะไรคือ 3 สิ่งที่เราจับใจความได้จากสถานการณ์ที่เราเล่า? ต้องหาให้เจอค่ะ เพราะนั่นคือ key message ที่เราต้องการสื่อออกไป 3 สิ่งนั้นเป็น highlight ของการนำเสนอ และเป็นสิ่งที่เราต้องการให้ผู้ฟังของเราจดจำได้
แบบฝึกหัดง่ายๆ อันนี้ ช่วยฝึกความคิดเราได้มาก ลองทำบ่อยๆ ค่ะ รับรองว่าจะช่วยพัฒนาความคิดเราไปอีกขั้นแน่นอน...
แบบฝึกหัดจับใจความ
นิทานเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า 1) ..... 2) ..... และ 3) .....