ทำไมนำเสนอแล้วคนฟังไม่เข้าใจ?

ที่อิงเจอบ่อย คือ เกิดจากผู้นำเสนอพูดจาวกวน นำเสนอแล้วไม่ไปไหน หรือไปแบบไม่เป็นลำดับ 

กรณีนี้แก้ไขได้โดยการเรียบเรียงความคิดตัวเอง (อ่านโพสต์เรื่องหยุดพายเรือในอ่างด้วยแบบฝึกหัดจับใจความได้ที่นี่)

แต่อีกกรณีนึงที่เจอบ้าง และไม่ค่อยมีใครพูดถึง คือ ผู้นำเสนอพูดจารู้เรื่อง เรียบเรียงมาเป็นอย่างดี แต่มันมีอะไรบางอย่างทำให้คนฟังไม่เข้าใจ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พูดกันคนละภาษา นั่นเอง

อันนี้ถือเป็นการตกม้าตาย แบบศพไม่สวยเท่าไหร่ค่ะ เพราะความพยายามที่ตั้งใจมาสูญหายไปแบบตบเข่าฉาด ว่าไม่น่าพลาดเลย

เรามาดูกรณีหลังนี้กันค่ะ ว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร จะป้องกันและแก้ไขได้อย่างไร

More...

สาเหตุที่ทำให้พูดกันคนละภาษา

สาเหตุหลักเลย เกิดจากการที่ผู้นำเสนอไม่วิเคราะห์ผู้ฟังในระหว่างเตรียมการนำเสนอ ทำให้เนื้อหาการนำเสนอไม่เหมาะกับระดับความรู้ของผู้ฟัง

ตัวอย่างเช่น ไปพูดเรื่องผลการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment หรือ EIA) ของโรงกลั่นน้ำมันให้กับชาวไร่มันฝรั่งที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงฟัง แต่ใช้ภาษาเดียวกับที่เขียนรายงานส่งให้หน่วยงานราชการในการขออนุญาต เป็นต้น

สาเหตุรอง คือ ใช้สไลด์การนำเสนอชุดเดียวกันกับผู้ฟังหลายกลุ่ม (โดยไม่มีการปรับเนื้อหาและวิธีการพูด)

ตัวอย่างเช่น ผู้บริหารหน่วยงานแห่งหนึ่งนำเสนอถึงแนวทางในการพัฒนา SMEs ให้กับภาคอุตสาหกรรมฟัง แต่ใช้สไลด์ชุดเดียวกับที่นำเสนอให้ข้าราชการในท้องถิ่นฟัง ในสไลด์มีตัวย่อที่ใช้ในภาคราชการโดยไม่มีการขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้ฟัง (อุตสาหกรรม) เพราะลืมไปว่าเป็นผู้ฟังคนละกลุ่ม เป็นต้น

อะไรทำให้พูดกันคนละภาษา

โดยปกติแล้วคนฟังมีโอกาสที่จะไม่เข้าใจการนำเสนอ หากเนื้อหานั้นๆ เป็นสิ่งที่ผู้ฟังรู้เพียงผิวเผินหรือไม่รู้มาก่อน และจะยิ่งมีโอกาสสูงมากหากผู้นำเสนอใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ในการนำเสนอ 

  • ศัพท์เทคนิค: ศัพท์เทคนิคอาจเป็นที่รู้จักกันดีในสายอาชีพนั้นๆ เช่น ศัพท์เทคนิคทางการแพทย์ และศัพท์เทคนิคทางวิศวกรรม เป็นต้น และเมื่อเราใช้ศัพท์เทคนิคนี้เป็นประจำทุกวัน ก็อาจหลงลืมไปว่าผู้ฟังบางส่วนไม่ได้อยู่ในวงการเหมือนเรา เวลานำเสนอเราจึงไม่ได้ขยายความว่าศัพท์เทคนิคนั้นคืออะไร ทำให้คนฟังงุนงงว่าเรากำลังพูดถึงอะไร (หากคิดไม่ออก ให้นึกถึงเวลาเราไปหาหมอค่ะ บางทีหมอก็พูดคำศัพท์ที่เราไม่เข้าใจ แต่หมอกับพยาบาลพยักหน้ากันหงึกๆ สองคน
  • ตัวย่อ: ตัวย่อค่อนข้างอันตรายในการใช้ หากเราไม่ได้อธิบายตั้งแต่ต้นว่าตัวย่อนั้นย่อมาจากอะไร ตัวอย่างเช่น PPP อาจหมายถึง Policy, Plan and Programme หรืออาจหมายถึง Public Private Partnership ก็ได้ ดังนั้นในการนำเสนอที่มี PPP ทั้ง 2 ความหมายอยู่ในชุดสไลด์ แต่ไม่ได้บอกว่าย่อมาจากอะไร ก็สร้างความสับสนให้กับผู้ฟังได้ เป็นต้น
  • ศัพท์ภาษาอังกฤษ: ศัพท์ภาษาอังกฤษที่ไม่ใช่ศัพท์เทคนิค แต่อาจไม่รู้จักในวงกว้าง หรือบางครั้งเราพูดสำเนียงไม่เป๊ะค่ะ คนฟังจะงงและสับสนว่าเราพูดอะไร ตัวอย่างที่อิงเจอมากับตัวเอง คือ ใช้คำว่า Takeaways โดยที่ไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย (หมายถึง สิ่งที่เราอยากให้ผู้ฟังได้กลับไป) ปรากฏว่านักศึกษาในคลาสหลายคนไม่เข้าใจ (ไม่ได้รู้ตัวเองนะคะ ต้องให้เพื่อนมาบอก)
  • คำพูดทางการ/ไม่ทางการ: ภาษาพูดต่างจากภาษาเขียน แน่นอนว่าภาษาเขียนจะมีความเป็นทางการมากกว่า วงการนำเสนอก็เช่นกัน ผู้ฟังของเราเหมาะกับภาษาแบบไม่เป็นทางการ (ใช้ภาษาพูดเป็นหลัก) กึ่งทางการ หรือทางการมาก (ราวกับใช้ภาษาเขียนมาพูด) ตัวอย่างการนำเสนอเรื่องการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ชาวบ้านฟัง เป็นตัวอย่างคลาสิกที่ยังคงเกิดขึ้นเป็นระยะ หรือการประชุมวิชาการที่ต้องการการนำเสนอแบบเป็นทางการสุดๆ ก็จะรับไม่ได้กับการใช้ภาษาที่ไม่ค่อยเป็นทางการเช่นกัน เรียกว่าฟังไม่เข้าหูกันเลยทีเดียว

แนวทางป้องกัน

การป้องกันที่ดีที่สุด (และควรทำทุกครั้ง) คือ การวิเคราะห์ผู้ฟัง อย่างน้อยเราต้องรู้ว่าผู้ฟังของเราเป็นใคร (เช่น อาจารย์ นักศึกษา ชาวไร่ หรือพนักงานธนาคาร เป็นต้น) เขารู้เรื่องที่เราจะนำเสนอมากน้อยขนาดไหน (เช่น เล่าเรื่อง PM2.5 ให้เด็กประถมฟังย่อมแตกต่างจากเล่าให้เจ้าหน้าที่กรมควบคุมมลพิษฟัง) 

หากต้องใช้ศัพท์เทคนิค แล้วผู้ฟังบางกลุ่มไม่รู้จักศัพท์เทคนิคนั้น ควรต้องมีการอธิบายอย่างคร่าวๆ ก่อนว่า ศัพท์เทคนิคนั้นหมายถึงอะไร

หากต้องใช้ตัวย่อ อย่าลืมใส่ตัวเต็มอย่างน้อยในครั้งแรกๆ ที่นำเสนอว่าตัวเต็มนั้นคืออะไร

หากจำเป็นต้องใช้ศัพท์ภาษาอังกฤษควรบอกความหมายภาษาไทยด้วย

แนวทางแก้ไข

ในระหว่างการนำเสนอเราควรสังเกตผู้ฟังเป็นระยะ หากรู้สึกว่าผู้ฟังดูงง  ไม่เข้าใจ ให้หยุดการนำเสนอ (เมื่อโอกาสเอื้ออำนวย) แล้วถามผู้ฟังตรงๆ ค่ะ ว่าที่นำเสนอถึงตรงนี้แล้ว มีข้อสงสัยตรงไหน หรือข้อคิดเห็นเพิ่มเติมหรือไม่ 

หากมีคนถาม ให้ใช้โอกาสนี้อธิบายเพิ่มในสิ่งที่เขาถาม

หากไม่มีคนถาม ให้ใช้โอกาสนี้อธิบายเพิ่มในสิ่งที่เราอาจพลาดไป เช่น ศัพท์เทคนิคบางตัว หรือตัวย่อ หรือแม้กระทั่งปรับการใช้ภาษาของเราให้เหมาะสมขึ้นค่ะ

คำถามชวนคิด

ในการนำเสนอครั้งล่าสุดของคุณ มีศัพท์เทคนิค และตัวย่อ ที่คนฟังอาจไม่เข้าใจอยู่บ้างหรือไม่ แล้วในครั้งต่อไปคุณจะปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ