พูดถึง Training หรือ Workshop คนทำงานหลายคนถึงกับเบือนหน้าหนี เพราะเข้าไปแล้ว แทนที่จะได้เรียนรู้ กลับต้องไปต่อสู้กับตัวเองไม่ให้หลับซะงั้น (ไม่งั้น เดี๋ยวขายหน้าน้องๆ ในทีมที่มาเรียนด้วยกัน)

อิงเองได้เข้า Training/Workshop อยู่พอสมควร มีทั้งฟรีและไม่ฟรี (ไม่แพงมากไปจนถึงแพงมาก) ส่วนใหญ่แล้วจะมีที่ไม่ถูกใจอยู่พอสมควร (โดยเฉพาะสไลด์ที่ใช้สอน เดี๋ยวค่อยมาขยายความต่อค่ะ) ที่ถูกใจแบบสุดๆ นั้นมีน้อยมาก 

แต่การรอคอยและตามหา... อะไรที่มันแบบ...เจ๋งหงะ มันก็คุ้มค่ะ

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อิงไปเข้า Corporate Innovation Masterclass in Thailand สอนโดย Alex Osterwalder ถือเป็นการฝึกอบรมที่ถูกใจมากๆ เลยอยากมาแกะรอยการออกแบบ Workshop เพื่อตัวเองจะได้เอาไปใช้ต่อ พร้อมกับแชร์ให้ผู้สนใจได้อ่านด้วยค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้สอน

ในปี 2010 Alex Osterwalder กับ Yves (Advisor สมัย Alex เรียน ป.เอก) ได้เขียนหนังสือเรื่อง Business Model Generation ซึ่ง่ต่อมาได้กลายเป็น Best Seller และโด่งดังในหมู่ผู้ที่ต้องวางแผนกลยุทธ์และเขียนแผนธุรกิจ 

หนังสือที่ Alex กับอาจารย์แกเขียน โดดเด่นเป็นอย่างมากในการ Simplify เรื่องยากๆ อย่างการคิดโมเดลธุรกิจ  (ไม่ใช่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่ายขึ้น) ด้วยหลักง่ายๆ คือ การทำให้เห็นภาพ (Visualization) และการสร้างความเชื่อมโยงผ่านทางแผนภาพ ซึ่งหลักการสองอย่างนี้ถูกนำมาใช้มากใน Workshop ของแก เลยทำให้ผู้เรียนเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้ง่ายขึ้น (ไปขยายความกันต่อในช่วงแกะรอย)

เกี่ยวกับ Workshop

Corporate Innovation Masterclass in Thailand เป็น Workshop 2 วันเต็ม จัดที่ Samyan Mitrtown Hall มีผู้เข้าร่วมอบรม ประมาณ 600 คน ประกอบด้วยหลากหลายอาชีพ ทั้ง แพทย์ วิศวกร ผู้บริหาร เจ้าของกิจการ และผู้สนใจอื่นๆ (เช่น อิง เป็นต้น)

การจัดห้องประกอบด้วย เวทีขนาดใหญ่ที่มีจอ (แบบเดียวกับจอโทรทัศน์) ขนาดใหญ่เต็มเวที และจอรับภาพจาก Projector ฝั่งละ 1 จอ (เนื่องจากห้องใหญ่มาก) โต๊ะจัดเป็นกลุ่มย่อยๆ กลุ่มละ 6 คน ฝั่งละ 3 คน

บนโต๊ะมี Business Model Canvas ขนาด A3 ให้คนละแผ่น พร้อม Post-it (ที่ไม่มีกาว) ขนาดเล็ก คนละ 3 สี พร้อมกับขนาดกลางและขนาดใหญ่ โต๊ะละ 3 สี

แกะรอยการออกแบบ

การออกแบบ Training/Workshop ให้ผู้ฟังได้เรียนรู้อย่างแท้จริง แถมไม่น่าเบื่อนั้นใช้พลังสมอง การใส่ใจ และเวลาเป็นอย่างมาก นั่นทำให้ Training/Workshop ส่วนหนึ่งไม่ได้รับการออกแบบที่ดี ว่าแต่คำว่า 'ดี' หรือ 'ไม่ดี' มันคือ อะไร มาตรฐานแต่ละคนอาจแตกต่างกัน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน Training/Workshop ที่ดี สำหรับอิง คือ Training/Workshop ที่ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ได้ทดสอบความเข้าใจของตัวเอง พร้อมกับมีการให้ Feedback จากผู้สอน ทำให้ไม่ใช่แค่จำสิ่งที่เขาบอก แต่ได้ทดสอบทำด้วยตัวเอง โดยที่เนื้อหาถูกเรียบเรียงมาเป็นอย่างดี มีลำดับการเรียนรู้ และสื่อออกมาให้ผู้เรียนสามารถเข้าใจได้ (ทั้งตัวเนื้อหาและวิธีการนำเสนอ)

Corporate Innovation Masterclass ที่อิงไปเรียนมาเข้าข่าย Training/Workshop ที่ดีที่อิงชอบเกือบหมด มาดูกันค่ะว่าเขาออกแบบอย่างไรบ้าง

  • การออกแบบเนื้อหา: เนื้อหาที่เรียนถูกแบ่งเป็น 8 ส่วนหลัก ซึ่งการแบ่งเนื้อหาออกเป็นกลุ่มย่อย ทำให้การออกแบบเนื้อหาและจัดสรรเวลาทำได้ง่ายขึ้น
  • การออกแบบการสื่อสารเนื้อหา: class นี้ไม่มีแจกสไลด์หรือเอกสารสรุปใดๆ ผู้เรียนต้องดูจากหน้าจอและฟัง Alex พูดเท่านั้น ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาเรื่องการอ่านเอกสารไประหว่างเรียน สไลด์ที่ Alex ใช้ ไม่มี A Single Bullet Point จ้า เป็น สไลด์ที่เน้น visual มากๆ มีการใช้ รูปผสมกับคำพูด ไดอะแกรม และตัวอักษรบ้าง ผสมไปกับคลิปสั้นๆ ที่อธิบาย concept ต่างๆ การสื่อสารเนื้อหาของ Alex ทำลายความเชื่อเดิมๆ ของวิทยากรที่กลัวกันว่า จะสอนอย่างไร ถ้าในสไลด์ไม่มีคำอธิบายเป็นตัวอักษรเยอะๆ วิธีที่ Alex ใช้ คือ ใช้ ไดอะแกรม และเนื้อหาที่เป็น keyword สั้นๆ แล้วอธิบายเอายาวๆ ด้วยการพูดให้ฟัง (แต่เป็นคำพูดที่ฟังดูก็รู้ว่าคิดและออกแบบมาแล้ว) ข้อได้เปรียบนึงของ Alex คือ visual ที่ใช้ โดยเฉพาะไดอะแกรมต่างๆ เอามาจากหนังสือหลายเล่มที่แกเขียน ดังนั้นจะมีความหลากหลายของภาพแต่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ไม่โดด เหมือนกับการเลือก visual มาจากแหล่งต่างๆ 
  • การออกแบบกิจกรรม: ใน Workshop มีกิจกรรมสั้นๆ ให้ทำน่าจะเกือบ 20 กิจกรรมได้ค่ะ กิจกรรมที่ทำจะเป็นการทดสอบและเสริมความเข้าใจเนื้อหาก่อนหน้านี้ที่เรียนมา ข้อสังเกต คือ กิจกรรมที่ทำเป็นกิจกรรมสั้นถึงสั้นมาก (2 - 15 นาที โดยส่วนใหญ่จะให้เวลาแค่ 5 - 10 นาที) ดังนั้นหากมัวแต่คุยสัพเพเหระ ไม่ตรงไปยังประเด็นสำคัญเลย จะทำไม่ทันค่ะ ช่วงกิจกรรมแรกส่วนใหญ่ทำไม่ทัน แต่พอทำไปสักพัก ทุกคนเริ่มปรับตัวค่ะ เริ่มปั๊บจะไปที่เรื่องสำคัญทันที สรุปว่าเวลาที่น้อย ทำให้ คิดเร็ว ทำเร็ว และตรงประเด็น ตัวช่วยที่ผ่านการคิดมาแล้วเช่นกัน คือ สติกเกอร์ที่มีเนื้อหาสรุปมาให้เบื้องต้นแล้ว แต่ผู้เรียนต้องวิเคราะห์ต่อว่าเนื้อหาก้อนนั้นๆ จะอยู่ในกลุ่มไหน ทำให้ใช้เวลาในการทำกิจกรรมได้สั้นลงแต่ผู้เรียนยังคงได้คิดวิเคราะห์เพื่อทบทวนสิ่งที่ได้เรียนไปแล้วอยู่
  • การออกแบบการมีส่วนร่วม: ถึงแม้ว่าแต่ละโต๊ะจะมี 6 คน แต่กิจกรรมส่วนใหญ่จะทำกันแค่ 2 คน (ที่นั่งตรงข้ามกัน) ดังนั้นทุกคนมีโอกาสได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรม รวมทั้งมีโอกาสเป็นครั้งคราวได้แชร์ไอเดียนั้นออกอากาศให้คนอื่นๆ ในห้องฟัง (ใช้ iPad ถ่ายทอดผ่าน Apple TV ทันสมัยมาก) นอกจากนี้ในแต่ละช่วง (เช้าและบ่าย) Alex จะให้ผู้เรียนย้ายโต๊ะ เพื่อจะได้รู้จักและทำงานร่วมกับคนใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความหลากหลายในการเรียนรู้
  • การออกแบบการให้ Feedback: เนื่องจากผู้เข้าเรียนจำนวนมาก การให้ Feedback แบบหนึ่งต่อหนึ่งทำได้ยากมาก สิ่งที่ทำได้ คือ การอธิบายและสรุปกิจกรรมผ่านทางจอใหญ่ (แต่ตรงนี้ อิงคิดว่ามันเร็วไปนิดนึง หากช้ากว่านี้สักนิดจะชอบมากขึ้น)

สิ่งที่คิดว่าจะเอาไปใช้

ส่วนนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนตัวค่ะ อิงคิดว่าจะนำสิ่งต่อไปนี้ไปปรับใช้กับการ Training/Workshop ของตัวเองค่ะ

  1. 1
    ออกแบบกิจกรรมย่อยให้เยอะขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้ทบทวนส่ิงที่เรียนรู้ได้บ่อยขึ้น
  2. 2
    ใช้เวลาในแต่ละกิจกรรมให้น้อยลง เป็นการเพิ่มความตื่นตัวให้กับผู้เรียน ซึ่งตรงนี้อาจต้องไปปรับตัวกิจกรรมให้มี scope แคบลง และ focus ไปเฉพาะบางเรื่องเท่านั้น 
  3. 3
    ใช้เทคนิค Pre-filled คำตอบบางส่วนมาใช้ เพื่อย่นระยะเวลาการทำกิจกรรม และตัดการวิเคราะห์เนื้อหาส่วนที่ไม่จำเป็นออกไป 

คำถามชวนคิด

แล้วคุณจะนำอะไรไปปรับใช้บ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
เรียนออนไลน์แบบไหนเหมาะกับตัวเรา?
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling