"นี่แกอ้วนขึ้นป่ะเนี่ย อืดมาเลย"

คำพูดจิกกัดนิดๆ น่าจะเป็นเรื่องปกติ ชวนฮา สำหรับเพื่อนสนิทในกลุ่ม

อิงเชื่อว่าหลายๆ คน ต้องเคยจิกเพื่อนเล็กๆ ไปด้วยประโยคทำนองนี้

อิงก็เคยค่ะ...

เอาฮาทั้งคนจิก ทั้งคนถูกจิก 

(ปัจจุบันเรียกว่า bully ค่ะ)

แต่... วันนึงสิ่งต่างๆ ก็เปลี่ยนไป

เมื่อเพื่อนคนนึงในวงพูดขึ้นมาว่า

"แกบางอย่างไม่ต้องพูดก็ได้ เปลี่ยนไปพูดแบบปิยวาจาบ้างจะดีกว่านะ"

อิงคิดว่าคนพูดคงจำประโยคนี้ไม่ได้แล้ว

แต่... ตั้งแต่นั้นมา เหมือนแสงวาบเข้ามาในหัว

อิงไม่เคยทักเพื่อนฝูงด้วยคำพูดทำนองนั้นอีกเลย

เออเน้อ เพื่อนกันทักกันด้วยคำดีๆ ก็ได้ จะได้สร้างบรรยากาศที่ดีเวลาเจอกัน

...

พอมาอ่านหนังสือ "พูดดีมีกำไร พูดยังไงไม่ขาดทุน'

เหมือน de javu เลยคิดถึงเหตุการณ์นั้นขึ้นมาอีก

เพราะส่วนใหญ่พวกเราไม่ค่อยรู้ตัวค่ะ (แถมไม่มีใครสอนอีกต่างหาก) 

เลยพูดจา 'ขาดทุน' กันเป็นประจำ

มาดูรีวิวกันค่ะ ว่าหนังสือพูดถึงอะไรกันบ้าง

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

คุณอิโอตะ ทัตสึนาริ เป็นนักเขียนและที่ปรึกษาทางจิตวิทยา ก่อนออกมาเปิดธุรกิจส่วนตัว แกเคยทำงานในสำนักพิมพ์และสถาบันการใช้ชีวิตฮาขุโฮโด (เป็นสถาบันที่ชื่อดูแตกต่างมาก สะท้อนให้เห็นว่าบางครั้งมนุษย์ก็ไม่รู้ว่าควรต้องใช้ชีวิตอย่างไร)

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

เนื่องจากหนังสือมีเนื้อหาค่อนข้างครอบคลุมทั้งชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน ทำให้ดูเหมือนว่าทุกคนน่าจะได้ประโยชน์เหมือนกันหมด

แต่อิงว่าคนที่น่าจะเหมาะกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษมีอยู่ 2 กลุ่มค่ะ

  • น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน: น้องๆ กลุ่มนี้มีอนาคตการทำงานอีกยาวไกล เป็นช่วงอายุที่ควรอ่านให้มาก เอาไปใช้ เรียนรู้จากประสบการณ์ แล้วสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา และแน่นอนค่ะ การพูด 'ดี' หรือ 'ไม่ดี' จะส่งผลอย่างแน่นอนต่ออนาคตของตัวเอง และยังเป็นรากฐานความเป็นตัวน้องเองในอนาคตอีกด้วย หนังสือเล่มนี้มีข้อแนะนำที่ถ้าเอาไปใช้จะดีต่อชีวิตการทำงานในอนาคต อิงคิดว่ากลุ่มนี้น่าจะได้ประโยชน์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้มาก (แต่ต้องเอาไปใช้ด้วยนะคะ)
  • ผู้ที่มักใช้คำพูด 'ขาดทุน' อยู่เป็นประจำ: อ้าว แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าใช่เราหรือเปล่า? หนึ่ง ลองสังเกตคำพูดตัวเองค่ะ มีคำพูดเชิงลบอยู่เป็นประจำหรือเปล่า และสอง ลองสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้างเราค่ะ ไม่ค่อยมีใครอยากคุยด้วย เพื่อนในทีมไม่ค่อยชอบหน้า คุยกับคนที่บ้านแล้วออกแนวเอือมระอามากกว่าจะรักกัน ถ้าใช่ แนะนำให้ลองหยิบหนังสือเล่มนี้มาอ่านและทำตามดูค่ะ 

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือเขียนเกี่ยวกับการใช้คำพูดเป็นหลัก โดยใช้ลักษณะของคำพูด และรูปแบบของการกระทำ เป็นตัวบอกว่าแบบไหนสร้าง 'กำไร' (ส่งผลบวกให้กับผู้พูด) แบบไหนทำให้ 'ขาดทุน' (ส่งผลลบให้กับผู้พูด หรือทำให้สถานการณ์แย่ลง) 

เนื้อหาในหนังสือแบ่งเป็น 5 บท (รวมบทนำและบทส่งท้าย) โดยในบทที่ 1 ถึง 3 จะมีหัวข้อย่อยๆ อธิบายถึง คำพูดและรูปแบบของกระทำ ในสถานการณ์ต่างๆ พร้อมยกตัวอย่างทั้งดีและไม่ดี โดยก่อนเริ่มหัวข้อย่อย จะมีการแสดงผลจากโพลว่าคำพูด/การกระทำที่ได้ 'กำไร' และ 'ขาดทุน' และมีผู้โหวตกี่ % ว่าพูด/ทำแบบนั้นแล้วภาพลักษณ์ดีหรือแย่ นอกจากนี้ตอนท้ายหัวข้อจะมีสรุปจุดที่ได้กำไร เป็นการทบทวนกันอีกครั้ง

มาดูรายละเอียดของแต่ละบทกันค่ะ

บทนำ

เนื้อหาสั้นๆ ในบทนี้ เป็นการปรับจูนความคิดเกี่ยวกับเรื่องการใช้คำพูด พร้อมยกตัวอย่างที่คุณทัตสึนาริพบมากับตัวเอง อย่างที่แกบอกว่า "หลังๆ มานี้ ผมได้กำไรจากการเปลี่ยนวิธีพูดมากทีเดียว"

บทที่ 1 ครอบครัวและเพื่อนฝูง

ในบทนี้มี 16 หัวข้อย่อย แค่เปิดมาหัวข้อแรกก็คงโดนใจหลายๆ คนแน่นอน กับพฤติกรรมที่ว่า พออีกฝ่ายเล่า ก็เริ่มเล่าเรื่องตัวเองบ้าง อิงเชื่อว่าหลายคนเป็นแบบนี้ ขณะที่หลายคนเจอแบบนี้ เช่นเดียวกับหลายๆ หัวข้อย่อยในบทนี้ ที่การเป็นผู้ฟังที่ดีกลายเป็นการกระทำที่ทำให้เราได้กำไร แทนที่จะรีบแย่งอีกฝ่ายพูดหรือตอบแบบขอไปที 

ส่วนในหัวข้อย่อยที่ 11 เรื่องการตอบรับเมื่อได้รับคำชม เอามาปรับใช้กับเรื่องงานก็ได้ หลายคนมักจะเขินเมื่อถูกคนอื่นชม ก็เลยถ่อมตัวไปว่า "ไม่หรอกค่ะ" "ไม่หรอกครับ'' ข้อนี้อิงเห็นหนังสือหลายเล่มแนะนำคล้ายๆ กัน คือ ให้เรายิ้มรับคำชมนั้น พร้อมขอบคุณด้วยความจริงใจ ถ้าจะเพิ่มบริบทของงานเข้าไป อิงแนะนำให้ถือโอกาสแชร์คำชมนั้นไปยังทีมงานของเราด้วย 

ตัวอย่างเช่น 

คุณ ก ชมเราว่า "งานประชุมครั้งนี้จัดได้เยี่ยมเลยนะครับ คนมากันครบ แถมให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์กับงานดีมากเลยครับ"

เรา ตอบกลับว่า "ขอบคุณสำหรับคำชมค่ะ งานนี้ทุกคนในทีมตั้งใจทำเต็มที่ ใช้เวลาเตรียมงานกันมาหลายสัปดาห์เลยค่ะ ดีใจที่คุณ ก ชอบและยังมอบคำชมให้อีก น้องๆ ต้องปลื้มใจแน่นอนค่ะ" (เป็นการหยอดคำชมกลับไปยังคุณ ก อีกต่างหาก)

...นอกเรื่องครอบครัวและเพื่อนฝูงไปแวะเรื่องงานซะแล้ว... 

บทที่ 2 งานสังสรรค์และการออกเดต

ในบทนี้มี 12 หัวข้อย่อย บทนี้เป็นการย้ำว่างานสังสรรค์และการออกเดตเป็นสิ่งสำคัญในสังคมของคนญี่ปุ่นค่ะ 

ยอมรับว่าอ่านแล้วไม่ค่อยอินเท่าไหร่ สำหรับคน introvert อย่างอิง ที่ชอบอยู่บ้านมากกว่า 

แต่หัวข้อย่อยหลายข้อสามารถเอาไปปรับใช้กับเรื่องส่วนตัวและการทำงานได้ เช่น หัวข้อ 19 ที่ให้คุยด้วยถ้อยคำของอีกฝ่าย หรือพูดง่ายๆ ว่าใช้คำศัพท์และสไตล์คำพูดที่อีกฝ่ายใช้ อย่างเช่นคุณคุยงานกับหน่วยงานราชการเรื่องการซื้ออุปกรณ์สำนักงาน เรามักได้ยินว่าจัดซื้อคุรุภัณฑ์ เราก็ควรเรียกคุรุภัณฑ์ตามเขาค่ะ จะได้คุยภาษาเดียวกัน

บทที่ 3 ที่ทำงานและธุรกิจ

ในบทนี้มี 16 หัวข้อย่อย ซึ่งทั้ง 16 หัวข้อย่อย ถือว่าเอามาปรับใช้กับสังคมการทำงานของไทยได้เป็นอย่างดี 

สำหรับน้องๆ ที่ต้องนำเสนองานให้หัวหน้าทีมหรือเจ้านายฟัง อย่าลืมเอาคำแนะนำในหัวข้อ 30 ไปใช้นะคะ หากเราอยากเติบโตในการทำงานเราต้องคิดและทำ ไม่ใช่รอเขามาบอกให้ทำ 

และสำหรับผู้ที่เป็นผู้นำทีมหรือหัวหน้างาน หัวข้อ 40 มีความสำคัญในการสร้างทีมมากค่ะ เพราะผลงานของทีมที่ออกมาเป็นสิ่งที่ทุกๆ คนช่วยกันทำออกมา ไม่ใช่ผลงานของเราคนเดียว อย่าลืมแสดงความขอบคุณคนอื่นๆ ในทีม (ต่อหน้าและลับหลัง) เป็นการให้กำลังใจน้องๆ ในการก้าวไปพร้อมกับเราค่ะ

บทที่ 4 15 ประโยคเด็ด 'ที่ได้กำไร' เพียงเปลี่ยนวิธีพูด

ในบทนี้จะพูดถึง 15 ประโยค/คำพูด ที่ขาดทุน เทียบกับ ที่ได้กำไร 

แต่ที่สำคัญ คือ อย่าลืมดูบริบทประกอบนะคะ ไม่เช่นนั้นแค่อ่านคำในกรอบ (ที่ได้กำไร) แล้วพูดตาม จะกลายเป็นขาดทุนเอานะคะ (อย่าลืมทำความเข้าใจกับคำอธิบายประกอบในแต่ละหน้าด้วย)

บทส่งท้าย

คุณทัตสึนาริสรุปให้ว่า "หัวใจของวิธีพูดอยู่ที่ว่า อีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร"

หมายความว่า คำพูดเดียวกัน การจะให้ผลอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับ 'อีกฝ่าย' และบริบทรอบข้างอีกหลากหลาย 

ถึงแม้ว่าในหนังสือ จะมีแนวทางและผลโพลให้ แต่ก็เป็นแค่แนวทางค่ะ เวลาเรานำไปใช้ จึงไม่ได้เป็นการนำไปใช้ตรงๆ แต่เป็นการประยุกต์ใช้ 

และนั่นทำให้ การพูด เป็น 'ศิลปะ' ไม่ใช่สูตรคูณค่ะ

ความคิดเห็นของฉัน

ที่จริงแล้วสิ่งที่อธิบายไว้ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เทคนิคพิสดารอะไรเลย ลักษณะคำพูดหรือการกระทำนั้นก็แสนธรรมดา แต่การจะรู้สิ่งที่หนังสือเขียนไว้หรือฉุกคิดว่าสิ่งที่เราพูด/ทำนั้นกำไรหรือขาดทุน ต้องอาศัยประสบการณ์และการทบทวนสิ่งที่เราพูด/ทำ

เพียงแต่บางครั้งบทเรียนบางบทเรียนก็มีราคาแพงเกินกว่าที่เราจะจ่ายไหวค่ะ

ดังนั้นการสละเวลาอ่านหนังสือ คิดตาม แล้วลองเอาไปใช้ ถือเป็นการประหยัดเวลาและเจ็บตัวน้อยกว่า

นอกจากนี้ อิงว่าไม่ใช่แค่ "คำพูด" ที่เป็นจุดขายของหนังสือ (ทั้งชื่อเรื่องและเนื้อหา) แต่การจะทำตามคำแนะนำในหนังสือได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดด้วยค่ะ ทั้งการรับผิดชอบในการกระทำของตนเอง การคิดถึงจิตใจของอีกฝ่าย และการคำนึงถึงส่วนรวม รวมถึงการมีสติในระหว่างการสนทนา ไม่เช่นนั้นจะเป็นแค่การท่องจำบทและพูดออกมาอย่างไม่จริงใจเท่านั้นเอง

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • เป็นหนังสือที่อ่านง่าย (อีกแล้วค่ะ)
  • มีผลโหวตประกอบ (อย่าไปซีเรียสกับตัวเลขเป๊ะๆ) ทำให้พอเห็นว่าคนอื่นคิดอย่างไร (เป็นการชวนเชื่อรูปแบบนึง)
  • มีตัวอย่างประกอบตลอดทำให้เห็นภาพ (แต่ไม่สามารถรู้ได้ว่าตัวอย่างนั้นมาจากเรื่องจริงหรือไม่)
  • บริบทของสังคมญี่ปุ่นมีความใกล้เคียงกับสังคมไทยมากกว่าหนังสือจากฝั่งอเมริกาและยุโรป ทำให้เอาไปปรับใช้ได้ค่อนข้างง่าย

หนังสืออ่านเพลิน อิงแนะนำว่าอ่านไปก่อนรอบนึง แล้วพอเราเจอสถานการณ์ที่คล้ายกันให้ลองกลับมาอ่านอีกรอบค่ะ 

หรือไม่ก็ลองแบบนี้ค่ะ เล็งสถานการณ์ที่เราคิดว่าจะเจอในเร็ววัน อ่านไปด้วย จินตนาการให้ตัวเราเองอยู่ในสถานการณ์นั้นไปด้วย แล้วลองให้ตัวเราในจินตนาการตอบโต้ตามแบบที่สร้าง 'กำไร' ให้เรา เมื่อเจอสถานการณ์นั้นแล้ว ให้ย้อนกลับมาคิดว่าเราพูด/ทำอะไรไปบ้าง ปฏิกิริยาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นอย่างไร เรียนรู้และปรับปรุง

สรุปโดยรวม สำหรับอิงถือว่าเป็นหนังสือน่าอ่าน และย้อนกลับมาอ่านได้เป็นระยะค่ะ

คำถามชวนคิด

เราจะเริ่มต้นฝึก 'พูดดีมีกำไร' ได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง