“ศาสตร์แห่งการเขียนที่โน้มน้าวใจได้ทุกคน”

เป็นหนังสือที่สอนทักษะพื้นฐานสำคัญที่คนทำงานทุกคนต้องรู้ค่ะ

...

สิ่งที่อิงไม่ชอบมากที่สุดสมัยเรียนประถมมัธยม คือ การเขียนเรียงความค่ะ 

มันยากมาก ไม่รู้จะเริ่มเขียนยังไง 

ถึงมีเรื่องจะเขียน ก็ไม่รู้ว่าต้องเขียนยังไงให้น่าอ่าน (ให้ได้คะแนนดีๆ) 

เลยกลายเป็นว่า ต้องมาหัดเขียนใหม่ตอนเริ่มทำงาน

พอเห็นชื่อหนังสือออกใหม่เล่มนี้ 

ก็รีบซื้อมาอ่านเลยค่ะ

อือม... พออ่านจบ 

ก็พบว่า... น่าจะมีใครสอนเราแบบนี้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว...

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

คุณซง ซุกฮี เป็นโค้ชด้านการสื่อสารและเคยเข้าร่วมหลักสูตรการเขียนของ Harvard (นั่นทำให้คุณซง เขียนถึง Harvard บ่อยมากในหนังสือ จนเหมือนจะบ่อยเกินความจำเป็น) 

คุณซง ได้สอนเทคนิคการเขียนมายาวนานกว่า 10 ปี โดยหนังสือเล่มนี้ก็มาจากประสบการณ์การสอนเหล่านั้นด้วย

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

การเขียนตัวหนังสือได้ เช่น ก ข ค ง หรือผสมคำได้ ไม่ได้เปลว่าเราจะเขียนได้ดี เพราะการเขียนเป็นการถ่ายทอดความคิดและใช้ตรรกะในการเรียบเรียงตัวหนังสือออกมาเป็นเรื่องราว 

แน่นอนค่ะว่าการเขียนดูจะจำเป็นสำหรับทุกคน แต่การฝึกการเขียนนั้นใช้เวลาและความอดทนสูง (หากใครเคยนั่งจ้องกระดาษเปล่า หรือหน้าจอเป็นชั่วโมง แต่เขียนไม่ได้ซักตัว จะเข้าใจเรื่องนี้ดีค่ะ) ดังนั้นอาจไม่ใช่ทุกคนที่อ่านแล้วจะมีเวลาและมีความมีวินัยเพียงพอที่จะฝึกการเขียน มันจึงเป็นการลงทุนที่ต้องใช้ความอดทนพอสมควร

อิงมองว่ากลุ่มคนที่น่าจะได้ประโยชน์มากๆ หากพัฒนาทักษะการเขียนของตัวเองได้ดีขึ้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ (และน่าจะยังมีไฟและมีเวลาในการฝึก) มีอยู่ 2 กลุ่ม

  • น้องๆ นักเรียนนักศึกษา: (ตามที่เราเคยตกลงกันค่ะ ว่าอายุห่างแค่ไหน เราก็จะเรียกน้องจ้า) การเขียนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับอนาคตของน้องๆ ในกลุ่มนี้ อิงจำไม่ได้แล้วว่าสมัยเรียนมหาวิทยาลัยมีสอนเรื่องการเขียนหรือเปล่า แต่น้องๆ จะได้ประโยชน์อย่างมาก หากอ่านและฝึกทำตามที่คุณซงสอน
  • น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นาน: น้องๆ กลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่ยังมีไฟ และมีเวลาอีกเยอะที่จะได้ประโยชน์จากทักษะการเขียนที่พัฒนาขึ้น หากได้พัฒนาทักษะการเขียนควบคู่ไปกับทักษะอื่นๆ และความรู้ในงานที่ทำ น้องจะไปได้ไกลกว่าเดิมแน่นอนค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือพูดถึงวิธีการเขียน โดยแบ่งเนื้อหาหลักๆ ออกเป็น 2 ส่วน คือ ประโยชน์ที่ได้จากการเขียน (ให้ดี) และวิธีการเขียนให้โน้มน้าวใจผู้ฟังด้วย O-R-E-O Map 

หนังสือมีทั้งหมด 7 บท (รวมบทนำและบทส่งท้าย) และภาคผนวก แต่ละบทจะประกอบด้วยหัวข้อย่อยๆ สั้นๆ ไม่กี่หน้า ทำให้เราสามารถอ่านแล้วพักเบรคได้ มีตัวอย่างสอดแทรกเป็นระยะ (แต่อิงอยากให้มีเยอะกว่านี้หน่อย) มาดูรายละเอียดคร่าวๆ ของแต่ละบทกันค่ะ

บทนำ ความลับของคอร์สเรียนการเขียน

บทนี้มีเนื้อหาสั้นๆ ที่คุณซงพยามชี้ให้เห็นว่าทำไมการเขียนถึงสำคัญ

บทที่ 1 ทำไมมหาวิทยาลัยชื่อดังถึงเน้นเรื่องการเขียน

บทนี้ก็ยังคงเป็นการจูงใจให้เราหันมาให้ความสำคัญกับการเขียน โดยมีการยกตัวอย่างการเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดัง คือ Harvard นั่นเอง

บทที่ 2 เคล็ดลับที่ทำให้คุณภาพงานเขียนดีขึ้น

บทนี้อธิบายถึง O-R-E-O Map ซึ่งจะเป็นสิ่งที่นำไปใช้ในบทอื่นๆ ที่เหลือ

คุณซง อธิบาย O-R-E-O Map ไว้ดังนี้ค่ะ (คัดลอกมาจากหน้า 36 ในหนังสือ)

  • O = Opinion (ความเห็น) นำเสนอความเห็นที่เป็นแกนกลางของเรื่อง
  • R = Reason (เหตุผล) พิสูจน์ข้ออ้างด้วยเหตุผลและหลักฐาน
  • E = Example (ตัวอย่าง) พิสูจน์อีกครั้งด้วยเหตุการณ์หรือตัวอย่าง
  • O = Opinion (ความเห็น) เน้นย้ำแก่นของเรื่องอีกครั้ง และยื่นข้อเสนอ (offer)

แต่คุณซงไม่ได้ระบุว่า O-R-E-O Map นี้แกคิดเอง หรือใครคิด - ไม่รู้อ่านตกไปหรือเปล่า ใครรู้ที่มาบอกด้วยนะคะ)

การที่เรามี pattern ในการเขียน จะช่วยให้เราสามารถเรียบเรียงงานเขียนได้ง่ายขึ้น flow ตาม O-R-E-O Map ก็เป็นเหตุเป็นผล ชวนให้ติดตามค่ะ 

แต่สิ่งที่เราต้องนำไปฝึกฝนต่อ คือ ทำอย่างไรเราถึงจะสร้างตรรกะ (logic) ของ opinion ของเราได้ 

ตัวอย่างเช่น หากเราบอกว่า เวลาที่เหมาะสมในการรดน้ำกระบองเพชรที่สุด คือ ช่วงเช้ามืดหรือช่วงเย็นย่ำหน่อย เพื่อไม่ให้น้ำไปสัมผัสกับดินที่ร้อนเกินไป และไม่ทำให้น้ำที่ติดอยู่ตามต้นทำให้ผิวกระบองเพชรเสียหายเมื่อเจอแดดจัดๆ อันนี้ดูเป็นเหตุเป็นผล 

แต่ถ้าเราบอกว่า เราควรให้อาหารน้องเหมียวตอน 8 โมงเช้าและ 4 โมงเย็นเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่กระเพาะอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด อือม... ดูตรรกะประหลาดนิดนึงค่ะ และไม่น่ามีงานวิจัยที่มาสนับสนุนได้

บทที่ 3 สูตรการเขียนงานที่คนต้องอ่านอย่างแน่นอน

ในบทนี้คุณซง แนะนำรูปประโยคที่ช่วยจูงใจผู้อ่าน นั่นคือ “ถ้า...ละก็ จง...สิ นั่นเป็นเพราะว่า...” ตัวอย่างที่ในหนังสือให้ไว้ คือ 

“ถ้ากลุ้มใจเรื่องรายงานถูกตีกลับเพราะไม่สมเหตุสมผลละก็ จงใช้ O-R-E-O Map ดูสิ เพราะ O-R-E-O Map คือ เครื่องมือที่เต็มไปด้วยองค์ประกอบแห่งตรรกะที่เหล่าคนเก่งต่างใช้กัน”

ตัวอย่างที่อิงคิดเอง คือ 

“ถ้าอยากให้น้องเหมียวรักละก็ จงลองให้ขนมที่น้องเหมียวชอบดูสิ เพราะน้องเหมียวเขาจะจดจำเราคู่กับความสุขที่ได้กินของอร่อย แล้วจะพัฒนามาเป็นความรักในที่สุด” พอได้มั๊ยคะ

ในบทนี้ยังสอดแทรกไปด้วยเทคนิคในการใช้ O-R-E-O Map พร้อมทั้งตัวอย่างเป็นระยะ แต่อย่างที่บอกค่ะ อ่านอย่างเดียวไม่ได้ ต้องฝึกด้วยนะคะ

บทที่ 4 เขียนความเรียง (Essay) ได้ง่ายและเป๊ะ

บทนี้เริ่มประกอบร่างเป็นรายงานโดยใช้ O-R-E-O Map คุณซงอธิบายอีกหนึ่งหลักการที่สำคัญ คือ โครงสร้างการเขียนแบบแบ่งย่อหน้า (หน้า 111) ดังแสดงไว้ในรูป A

โดยในแต่ละขั้นของ O-R-E-O Map จะเป็นแต่ละย่อหน้า และแต่ละย่อหน้าก็จะมีโครงสร้างเหมือนในรูป A นั่นเอง 

หัวข้อที่สำคัญอีก 2 ประเด็นง่ายๆ ที่คนอาจหลงลืม คือ การเขียนภาคประธานและภาคแสดงให้เหมาะสม (และถูกต้อง) พูดง่ายๆ คือ ประโยคที่สมบูรณ์ต้องมี ประธานและกริยา นั่นเอง 

คุณอาจจะเคยผ่านตากับงานเขียนที่ไม่มีประธาน คือ ไม่รู้ว่าใครเป็นคนทำกริยานั้นๆ มาบ้าง นั่นเป็นงานเขียนที่สร้างความสับสนงุนงง และอาจนำไปสู่การตีความที่ผิดได้ (หากเราเขียนอย่างนี้ ต้องรีบแก้ไขด่วนเลยค่ะ) 

บทที่ 5 วิธีใช้ O-R-E-O MAP ให้ปัง จนได้รับการประเมินว่าทำงานดีและฉลาดมาก

บทนี้จะเป็นการประยุกต์ใช้ O-R-E-O Map กับงานเขียนแบบต่างๆ ค่ะ คุณซงเปรียบเทียบ O-R-E-O Map เป็นเสมือน Espresso Shot ที่เอาไปผสมกับสิ่งต่างๆ ก็จะได้เครื่องดื่มที่แตกต่างกัน ดังนั้น O-R-E-O Map ก็สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้กับ งานนำเสนอ (presentation) การเขียนรายงาน และการเขียน resume เป็นต้น

บทสุดท้าย เซียนการเขียน เขาฝึกกันอย่างไรนะ

บทนี้ไม่ยาวมากค่ะ แต่เน้นย้ำว่าหากอยากเขียนเก่งก็ต้องฝึกค่ะ แล้วต้องมีการตรวจงานเขียน (ด้วยตัวเอง) หรือการให้ feedback จากผู้อื่น เพื่อนำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น

ความคิดเห็นของฉัน

อิงว่าหนังสือเล่มนี้สอนเรื่องการเขียนที่เราอาจไม่เคยได้เรียนจากคุณครู (หากโรงเรียนไหนมีสอน ถือว่าน้องโชคดีมากค่ะ)

การเขียน เป็นทักษะหนึ่งที่สำคัญในชีวิตการทำงาน

ทักษะ หมายถึง สิ่งที่ต้องผ่านการฝึกฝน ลงมือทำ และพัฒนา ถึงจะเก่งขึ้นได้

ไม่มีใครสามารถว่ายน้ำได้จากการอ่านหนังสือค่ะ 

แต่... การเรียนรู้ทฤษฎีหรือเทคนิคต่างๆ ช่วยให้เรารู้ว่าต้องทำตัวอย่างไร และไปได้เร็วขึ้น เมื่อเราเริ่มฝึกฝนทักษะนั้นๆ 

สรุป คือ คุณไม่สามารถเก่งขึ้นจากการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้ หากคุณไม่ฝึกเขียนออกมาจริงๆ แล้วซักพักนึง คุณก็จะลืมค่ะ แต่ถ้าคุณได้ฝึกไปซักพัก คุณจะเขียนเก่งขึ้น โดยไม่ต้องคอยเปิดหนังสือมาไกด์ และคุณจะไม่ลืมค่ะ (ก็เหมือนขี่จักรยาน ฝึกแล้วขี่ได้ครั้งเดียว เป็นไปตลอดชีวิต) 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • เป็นหนังสือที่อ่านง่าย 
  • มีเทคนิคสอดแทรกเป็นระยะ (เป็นการขยายความวิธีการใช้ O-R-E-O Map ให้เราเข้าใจมากยิ่งขึ้น)
  • ผู้เขียนมีประสบการณ์จากการเป็นโค้ชสอนการเขียน
  • ตัวอย่างเน้นสำหรับคนทำงาน จึงเอาไปปรับใช้ได้ไม่ยาก
  • มี worksheet สั้นๆ ให้ท้ายเล่มด้วยค่ะ

หลายคนอาจมีคำถามว่า ถ้าแก่นของหนังสือ คือ O-R-E-O Map อย่างงี้เราอ่านแค่รีวิวหรือสรุปตามเว็บไซต์ก็เข้าใจแล้ว ไม่ต้องซื้อหนังสือมาอ่านหรือเปล่า

ในความเห็นของอิง คุณค่าที่แท้จริงของหนังสืออยู่ตรงเทคนิคที่คุณซงขยายความกับตัวอย่างการใช้งานที่ยกขึ้นมาประกอบเป็นระยะ 

ส่วนจะซื้อมาอ่านหรือไม่ ลองพิจารณาดูค่ะ ว่าเราอยากจริงจังกับการพัฒนาทักษะการเขียนของเราแค่ไหน 

สำหรับอิง เมื่อ่านจบแล้วถือว่าเป็นหนังสือที่น่าพอใจ คุ้มราคา และนำไปใช้ได้จริง

แต่... หากมีการปรับปรุงเวอร์ชั่นถัดไป อยากให้มีตัวอย่างมากกว่านี้แล้วแนบเป็นภาคผนวก รวมทั้งอยากให้มีแบบฝึกหัดเป็นระยะ เพื่อที่เราจะได้นำไปฝึกต่อเองได้

คำถามชวนคิด

ลองกลับไปดูงานเขียนชิ้นล่าสุดของคุณ คุณอ่านแล้วรู้สึกอย่างไร?

เราสามารถใช้ O-R-E-O Map ปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง