ทำไมสไลด์ของเราไม่สวย?

ทำไมสไลด์ของเราดูแล้วรกตาไปหมด?

ทำไมสไลด์ของเราเกือบจะดี แต่เหมือนขาดอะไรไปบางอย่าง?

ทำไม...?

เรื่องความสวยความงามเป็นเรื่องที่ค่อนข้างขึ้นกับแต่ละบุคคล

(คนเรามองความสวยงามแตกต่างกันไป มากบ้าง น้อยบ้าง)

แต่เรื่องประสิทธิภาพในการสื่อสารเป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่เห็นตรงกัน

ถ้าเราต้องการปรับปรุงสไลด์ให้มีประสิทธิภาพขึ้นกว่าเดิม (และสวยขึ้นด้วย)

สิ่งหนึ่งที่ช่วยคุณได้ คือ เรียนรู้การใช้สีอย่างฉลาด

แน่นอนว่า... การใช้สีให้เหมือนนักออกแบบมืออาชีพเป็นเรื่องยากและใช้เวลานาน

แต่... ในการปรับปรุงสไลด์ให้ดีขึ้นกว่าเดิมด้วยการใช้สี เราทุกคนสามารถทำได้...ไม่ยากค่ะ

มาดูหัวใจสำคัญในการใช้สีสำหรับการเตรียมสไลด์นำเสนอในโพสต์นี้กันค่ะ

More...

สมมุติฐานเริ่มต้น

อิงขอสมมุติว่าทุกคนสามารถที่จะเลือกสีที่ต้องการใช้สำหรับชุดสไลด์ได้แล้ว

หากยังไม่รู้ว่าจะเลือกยังไง ขอแนะนำให้อ่านโพสต์นี้ค่ะ "เลือกใช้ชุดสีใน Presentation อย่างไรให้โดนใจ"

เมื่อมีชุดสีในใจแล้ว ก็มาดูหัวใจสำคัญ 3 ข้อในการใช้สีกันค่ะ

#1 ใช้สีอย่างมีจุดมุ่งหมาย

การเริ่มต้นด้วยการใช้สีอย่างมีจุดมุ่งหมาย โดยการกำหนดหน้าที่ให้กับแต่ละสี เป็นขั้นตอนแรกที่จะช่วยให้การออกแบบของเรามีความสม่ำเสมอในการใช้สีและช่วยผู้ฟังในการทำความเข้าใจกับเนื้อหาในสไลด์ของเราได้ง่ายขึ้น 

ตัวอย่างการกำหนดหน้าที่ให้กับสี

ตัวอย่างที่ 1

สีขาว ใช้สำหรับสีพื้นสไลด์ทั่วไป

สีเทาเข้ม ใช้สำหรับตัวหนังสือทั่วไป

สีเขียวเข้ม ใช้สำหรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

สีฟ้าเข้ม ใช้สำหรับประเด็นด้านสังคม

สีส้มน้ำตาล ใช้สำหรับประเด็นด้านเศรษฐศาสตร์

ตัวอย่างที่ 2

สีขาว ใช้สำหรับสีพื้นสไลด์ทั่วไป

สีเทาอ่อน ใช้สำหรับพื้นสไลด์คำถามหรือข้อสรุป

สีเทาเข้ม ใช้สำหรับตัวหนังสือทั่วไป

สีฟ้า ใช้สำหรับหัวเรื่องและเป็นสีเน้นสีที่ 1 

สีส้มอมแดง ใช้สำหรับสีเน้นสีที่ 2 

สีเหลือง ใช้สำหรับสีเน้นที่ 3 ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ 

ดังแสดงบางส่วนของชุดสไลด์ในรูป A

สิ่งที่พบเมื่อใช้สีอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย

อิงเคยพบชุดสไลด์ที่ผู้นำเสนอใช้สีม่วงสำหรับประเด็นที่พูดเกี่ยวกับเรื่องสังคม สักพักเปลี่ยนไปใช้สีเหลือง จากนั้นกลับมาสีม่วง และเปลี่ยนไปใช้สีเขียวแทน 

สำหรับสาเหตุ คือ ผู้นำเสนอใช้ smart art ร่วมด้วย แล้วไม่ได้แก้ไขสีของ smart art ให้ตรงกับที่ใช้ไว้ในตอนแรก ทำให้กลับไปกลับมา สร้างความงุนงงให้กับผู้ฟังพอสมควร

#2 อย่าใช้สีมากเกินไป

โดยทั่วไป กูรูด้านการออกแบบสไลด์มักแนะนำให้ใช้สีพื้น 1 สี สีสำหรับตัวอักษร 1-2 สี และสีที่ใช้เน้นอีก 1-2 สี (มากสุดไม่เกิน 3 สี) ซึ่งหากใช้เต็มตามเพดาน ก็ถือว่าค่อนข้างเยอะแล้ว แนวทางนี้เป็นแนวทางที่อิงพยามยึดตามเช่นกันค่ะ 

สาเหตุนึงที่สไลด์เราดูรกตา ก็เพราะสีที่มากไปนั่นเอง และอย่างเราๆ ที่การนำเสนอเป็นส่วนหนึ่งของงาน หรือพูดง่ายๆ ว่าไม่ได้มีอาชีพออกแบบสไลด์ เราอาจไม่เชี่ยวชาญมากพอที่จะใช้ชุดสีจำนวนมากแล้วยังออกมาสวยงามน่ามอง การลดจำนวนการใช้สีลงเท่าที่จำเป็นดูจะเป็นแนวทางที่ทำได้ง่ายกว่าค่ะ

การใช้สีมากเกินไปที่มักพบ คือ ในรูปกราฟต่างๆ และจากการใช้ smart art ดังแสดงตัวอย่างในรูป B

#3 ใช้สีช่วยเน้นสิ่งสำคัญ

การใช้สไลด์ประกอบการนำเสนอ เพื่อช่วยให้ผู้ฟังได้เห็นข้อมูลและสิ่งสำคัญในข้อมูลนั้น สีเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเน้นสิ่งสำคัญที่ผู้นำเสนอต้องการสื่อ 

... ดังนั้นอย่าลืมใช้ประโยชน์จากสีในการเน้นสิ่งสำคัญกันนะคะ

ตัวอย่างการใช้สีช่วยเน้นสิ่งสำคัญ แสดงในรูป C

คำถามชวนคิด

ก่อนหน้านี้คุณใช้สีอย่างไรในชุดสไลด์?

แล้วหากคุณต้องการปรับปรุงการใช้สีในชุดสไลด์ คุณจะเริ่มต้นอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ