ห่างหายไปนานค่ะ ไม่ได้รีวิวหนังสือมาพักใหญ่เลย

(แต่มีหนังสือตุนไว้เยอะมาก...)

เห็นชื่อหนังสือแล้วคุ้นๆ มั๊ยคะ

...ใช่แล้วค่ะ

นี่เป็นหนังสือในซีรี่ย์เดียวกับ The Power of Output ค่ะ

เล่มนี้ว่าด้วยเทคนิคการรับ input แบบต่างๆ 

มาในชื่อ... "The Power of Input"

อ่านง่ายและน่าสนใจเช่นเคยค่ะ

แต่... เหมือนเดิมค่ะ ไม่ใช่ทุกคนจะเหมาะกับหนังสือเล่มนี้

มาดูรีวิวขยายความกันค่ะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

คุณชิออน คาบาซาวะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตแพทย์ที่เผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดในญี่ปุ่น (ตามคำโปรยในหนังสือเล่มก่อนๆ) แถมยังเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง เดือนละ 20 เล่มขึ้นไปเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

นอกจากนี้คุณคาบาซาวะยังออกหนังสือใหม่ทุกปีอีกต่างหาก

คุณคาบาซาวะเฉลยไว้ในหนังสือว่าการเขียนบทความ การออกหนังสือใหม่ๆ และการจัดสัมมนาของเขานั้น เป็นผลมาจากการทำ input มาอย่างต่อเนื่องนานนับสิบปีนั่นเอง

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

ถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะอ่านได้ง่ายมาก (ผลจากการจัดโครงสร้างที่ดีและการใช้ภาษากึ่งๆ ภาษาพูด) แต่ไม่ใช่จะเหมาะหรือมีประโยชน์กับทุกคนเท่าๆ กันค่ะ 

หากคุณมีความเชี่ยวชาญในการหาข้อมูล อ่านข้อมูล (รวมถึงหนังสือ) ฟัง และดู (รวมถึงคอร์สต่างๆ) หนังสือเล่มนี้อาจมีประโยชน์กับคุณไม่มากนักค่ะ 

แต่หากคุณเพิ่งเข้าสู่วงการ ถือเป็นการเรียนลัด เรียนแบบให้เห็นภาพรวมแล้วค่อยไปเจาะลึกอีกที ดังนั้นอิงว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับคน 2 กลุ่มหลักๆ ค่ะ 

  • ผู้ที่เริ่มต้นพัฒนาตนเอง: การรับ input ดีๆ เป็นวัตถุดิบที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาตนเอง (garbage in, garbage out ยังคงเป็นจริงเสมอ) หากคุณเริ่มต้นพัฒนาตนเอง แล้วยังงงอยู่ว่าจะหา input จากไหนบ้าง หนังสือเล่มนี้แนะนำช่องทางในการหา input อย่างครอบคลุมเกือบทุกช่องทาง และเทคนิคในการรับ input อย่างมีประสิทธิภาพ อ่านแล้วนำไปใช้ได้แน่นอนค่ะ
  • นักเรียนนักศึกษา: น้องๆ กลุ่มนี้อยู่ในวัยเรียนรู้ การรับ input จึงเป็นส่วนสำคัญในชีวิตประจำวัน แต่นอกจากการเรียนหนังสือในแต่ละวันแล้ว การรับ input ในรูปแบบอื่นๆ ก็จะช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับน้องๆ อีกด้วย

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือแบ่งออกเป็น 7 บทหลักๆ (ไม่รวมบทนำและบทส่งท้าย) โดยบทที่ 1 เป็นกฎพื้นฐานเกี่ยวกับ input และ บทที่ 7 เป็นเทคนิคการทำ input ขั้นสูง ส่วนบทที่ 2 ถึง 6 เป็นการพูดถึงเทคนิคการทำ input ในรูปแบบต่างๆ มาดูรายละเอียดกันค่ะ

#บทเสริมก่อนเริ่มอ่าน - Output คืออะไร

บทนี้สั้นๆ แค่ 3 หน้า เป็นการสรุปกฎพื้นฐานของ Output (จากหนังสือ The Power of Output หากสนใจสามารถคลิกอ่านรีวิวได้ที่นี่)

#บทที่ 1 กฎพื้นฐานของ Input 

ในบทนี้มีทั้งหมด 11 หัวข้อย่อย (โครงสร้างหนังสือจะแบ่งเป็นบทและหัวข้อย่อยๆ โดยในแต่ละหัวข้อย่อยจะมีเนื้อหาประกอบและกราฟฟิกสรุปเพื่อเตือนความจำค่ะ)

บทนี้จะแนะนำกฎพื้นฐานของ input ถือเป็นบทสำคัญเลยค่ะ เพราะในบทที่ 2 ถึง 6 ซึ่งแนะนำช่องทางในการหาและทำ input ก็จะเป็นการนำกฎพื้นฐานนี้ไปประยุกต์ใช้นั่นเอง โดยหัวใจสำคัญของกฎต่างๆ คือ การเตรียมตัวก่อนทำ input (ใช่ค่ะ ต้องเตรียมตัวด้วยจ้า)

#บทที่ 2 วิธีอ่านหนังสือให้จำได้ตามหลักวิทยาศาสตร์ 

ในบทนี้มีทั้งหมด 11 หัวข้อย่อย 

สิ่งหนึ่งที่คาใจอิงมานาน คือ เราควรอ่านหนังสือให้ได้เยอะๆ หรืออ่านแบบ speedy (เร็วนรกแตก) หรือเปล่า?

คุณคาบาซาวะแนะนำว่าอ่านเร็วก็ดี แต่อ่านให้ละเอียดดีกว่า และการอ่านที่ดี ควรให้คุณภาพนำปริมาณ ไม่ได้หมายถึงว่าอ่านเยอะๆ จะไม่ดี แต่หมายถึงว่าให้เลือกหนังสือที่ดีและอ่านอย่างมีคุณภาพ (อ่านแล้วทำ output ได้) ก่อน แล้วค่อยไปเพิ่มจำนวนหนังสือที่อ่านทีหลัง (ผู้เขียนแนะนำให้อ่านเดือนละ 3 เล่ม พร้อมทำ output ค่ะ) สำหรับใครหาคำแนะนำในการเลือกซื้อหนังสือเปิดไปหน้า 73 ได้เลยค่ะ

ถึงแม้ในบทนี้จะแนะนำเทคนิคในการอ่านแต่ไม่ได้ลงลึกมาก เน้นไปที่การเตรียมตัวก่อนอ่านมากกว่า หากใครต้องการเทคนิคในการอ่านและจดบันทึก อิงแนะนำให้อ่านเล่มนี้ค่ะ "อ่านแบบโทได" (อ่านรีวิวคลิกที่นี่) เล่มนี้เน้นเทคนิคแบบเจาะลึกแล้วเอาไปใช้ได้จริงค่ะ (ตอนอิงอ่าน The Power of Input ก็ใช้เทคนิคการอ่านแบบโทไดจดบันทึกตามตลอดค่ะ)

#บทที่ 3 วิธีการฟังเพื่อการเรียนรู้อย่างลึกซึ้ง

ในบทนี้มีทั้งหมด 18 หัวข้อย่อย 

การฟังเป็นสิ่งที่เราทำอยู่ทุกวัน สิ่งที่คุณคาบาซาวะแนะนำให้เพิ่มเติมขึ้นมาและเป็นหัวใจของบทนี้ คือ ฟังอย่างมีเป้าหมาย ไม่งั้นสิ่งที่ได้ฟังมาจะแค่ผ่านหูไป ไม่ได้ผ่านขึ้นไปบนสมอง หากเราฟังได้อย่างลึกซึ้งพอ เราต้องอธิบายได้ และต้องตั้งคำถามกับ input ที่รับมาได้ด้วย 

#บทที่ 4 วิธีดูสิ่งต่างๆ ให้กลายเป็นสิ่งที่ช่วยพัฒนาตนเอง

ในบทนี้มีทั้งหมด 13 หัวข้อย่อย  

สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรา ถือเป็นครูสอนเราได้ทั้งนั้นค่ะ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะสังเกตและตั้งคำถามกับสิ่งเหล่านั้นหรือไม่ และแน่นอนค่ะ ต้องกำหนดเป้าหมาย กำหนด output ก่อนดู (ทำ input) จึงจะเพิ่มประสิทธิภาพได้สูงสุดค่ะ 

คุณคาบาซาวะสนับสนุน non-verbal communication ในหลายๆ ตอน (ทั้งในบทนี้และบทอื่น) แกพยายามย้ำถึงประโยชน์ของการได้เห็นท่าทาง สีหน้า ของผู้ส่งสาร ในระหว่างการรับ input ว่าจะช่วยให้เราจดจำได้ดีขึ้นและเข้าใจได้ลึกซึ้งขึ้นค่ะ

#บทที่ 5 เทคนิคการใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยที่สุดแต่มีประสิทธิภาพสูงสุด

ในบทนี้มีทั้งหมด 15 หัวข้อย่อย 

หัวใจสำคัญ คือ พยามลดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ตให้น้อยลง และเพิ่มประสิทธิภาพโดยการวางระบบการรับข้อมูลและการตั้ง output ไว้ล่วงหน้า 

#บทที่ 6 วิธีเรียนที่ดีที่สุดที่ช่วยดึงศักยภาพในทุกด้านออกมา 

ในบทนี้มีทั้งหมด 23 หัวข้อย่อย 

บทนี้ครอบคลุมการเรียนรู้แบบครอบจักรวาล หากแบ่งออกเป็นกลุ่มจะได้ 4 กลุ่มหลัก คือ เรียนรู้จากตนเอง เรียนรู้จากคนอื่น (ทั้งการพบปะผู้คน และการหา mentor ไว้สักคน) เรียนรู้จากประสบการณ์ (ทั้งการท่องเที่ยว การทำอาหาร การกินของอร่อย ทุกอย่างเป็นการเรียนรู้ค่ะ แม้แต่การเจ็บป่วยก็ถือเป็นการเรียนรู้) และการทดสอบความรู้ (อะดีนารีนจะหลั่งออกมามากตอนสอบนี่แหละค่ะ)

#บทที่ 7 วิธีเพิ่มขีดความสามารถในการทำ Input (ขั้นสูง) 

ในบทนี้มีทั้งหมด 11 หัวข้อย่อย 

คุณคาบาซาวะแนะนำเทคนิคเพิ่มเติมสำหรับนำไปปรับใช้กับการรับ input ในรูปแบบต่างๆ สิ่งที่อิงคิดว่าสำคัญในบทนี้มีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1) เรียนรู้ทีละ 3 เรื่อง แกเตือนว่าอย่าโลภมากค่ะ ทีละ 3 เรื่องก็พอ  และ 2) การสร้างห้องสมุดสำหรับคลังข้อมูลในสมองด้วย Mandala chart หัวข้อนี้น่าสนใจมากค่ะ เป็นการคุยกับตัวเองด้วยว่าเราจะให้ความสำคัญกับการรับ input ในเรื่องใดบ้าง และในเรื่องนั้นๆ มีหัวข้อที่สำคัญคืออะไร หากอยากทราบรายละเอียดเพิ่มหาใน google ได้เลยค่ะ 

ความคิดเห็นของฉัน

อย่างแรกเลยค่ะ อิงชอบชื่อหนังสือโดยเฉพาะชื่อภาษาไทย "ศิลปะของการเลือก+รับ*รู้" แค่ชื่อก็บรรจุ keyword ไว้หมดแล้ว นั่นคือ หากเราอยากได้ input ที่ดี เราต้อง "เลือก" ที่จะรับข้อมูลเข้ามา ขณะเดียวกัน การคงอยู่ของ input นั้นๆ ขึ้นกับสิ่งที่เรา "รับ" คูณกับ "รู้" คือรับเข้ามาแต่ไม่รู้ (ไม่ผ่านการประมวลผลและตระหนักรู้) สิ่งนั้นก็จะจางไปอย่างรวดเร็ว ที่เขาเรียกว่า ผ่านหู ผ่านตา นั่นเอง ผ่านเข้ามาแล้วผ่านออกไป

สำหรับเนื้อหาในหนังสือ การวางโครงเรื่องเป็นตอนสั้นๆ ในแต่ละบทช่วยให้อ่านได้อย่างรวดเร็วและเข้าใจได้ง่ายขึ้น (1 ตอน มีแค่ 1 key message หลัก) พออ่านจบความรู้สึกค่อนข้างผสมผสาน เรื่องที่ชอบก็มี เรื่องที่สงสัยก็มี เรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกเนื้อหาเบาไปหน่อยก็มี (อาจเพราะเรียบง่ายไปหน่อย) 

ว่าด้วยเรื่องที่ชอบก่อนค่ะ อิงว่าเรื่องการเขียน "Mandala Chart" ในหน้า 328 น่าตื่นตาตื่นใจสำหรับอิงมาก (ไม่เคยได้ยินมาก่อนเลยค่ะ) ต้องเอาไปทำ Chart ของตัวเองอย่างแน่นอน

ส่วนเรื่องที่สงสัย คือ ความย้อนแย้งเรื่องการเลือกรับรู้ค่ะ คุณคาบาซาวะแนะนำให้เราตั้งเสาอากาศไว้ก่อนเริ่มทำ input (หมายตาประเด็นที่สนใจและกำหนดเป้าหมายในการทำ input ไว้ก่อน) อือม... แต่การตั้งธงไว้ก่อนก็เป็นการ bias เล็กๆ เหมือนกัน (แต่ในตอน 06 แนะนำให้เราไม่ bias นะคะ) นอกจากนี้การตั้งธงไว้อาจทำให้เราพลาดบางประเด็นใหม่ๆ ที่สำคัญไปหรือเปล่า? 

สำหรับเรื่องที่อ่านแล้วรู้สึกว่าเนื้อหาเบาไปหน่อย จะเป็นตอนกลางๆ ของหนังสือ (บทที่ 2 ถึง 6) ที่เน้นเทคนิคแบบครอบคลุมกิจกรรมการรับ input มากมาย ตั้งแต่การอ่าน การฟัง การดู การใช้อินเตอร์เน็ต และการเรียน บางเรื่องเป็นเรื่องใหม่น่าสนใจทีเดียวค่ะ แต่บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว ขณะที่บางเรื่องดูเหมือนเป็นข้อคิดเห็นที่มาจากประสบการณ์ของตัวผู้เขียนซะมากกว่า

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ

  • เนื้อหาไม่หนัก อ่านง่ายมาก 
  • มีแนะนำเทคนิคต่างๆ ให้ลองนำไปใช้
  • มีรูปประกอบเป็นการสรุปความ ช่วยในการจดจำ
  •  รวมมิตรเทคนิคในการ เลือก รับ รู้ ต่างๆ ในเล่มเดียว ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การฟัง การดู เขียนไว้ค่อนข้างครบถ้วน (แม้แต่การกิน ก็ถูกรวมไว้ด้วย) 

หากให้สรุปหัวใจสำคัญของหนังสือเล่มนี้ อิงจะสรุปว่า "การเตรียมการก่อนการรับ input เพื่อให้เกิดความรู้ สำคัญที่สุด ทั้งการเลือกว่าจะรับทางไหน และเลือกว่าจะรับอะไร" (แน่นอนค่ะ การเลือกไว้ก่อนก็น่ากังวลว่าอาจทำให้เราพลาดบางสิ่งไปได้เหมือนกัน)

คำเตือนเพื่อปรับความคาดหวัง: หนังสือไม่ได้ลงเทคนิคเจาะลึกในแต่ละหัวข้อ และเนื้อหาค่อนข้างกว้าง เหมาะกับการเริ่มต้นแล้วไปหาหนังสืออ่านเจาะลึกในแต่ละประเด็นทีหลัง

แล้วควรซื้อหรือไม่?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ อิงแนะนำให้ถามตัวเองก่อนค่ะ ว่าการ เลือก รับ รู้ ของเราเป็นอย่างไร? 

หากเราเป็นคนที่หา input ใส่ตัวอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ การเรียนรู้ทั้งออนไลน์ออฟไลน์ และมีสมดุลในการหากิจกรรมอื่นๆ ให้ตัวเอง หนังสือนี้อาจไม่เพิ่มคุณค่าให้กับเรามากนักค่ะ เพราะเนื้อหาหลักๆ ในหนังสือ (มากกว่า 70%) เป็นการจูงใจผสมกับเทคนิคในการทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเพิ่ม input ให้กับตัวเรา เช่น อ่านหนังสือ (รวมถึงเทคนิคในการหาหนังสืออ่าน) เรียนคอร์สต่างๆ ดูหนัง เดินพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น หากเป็นกรณีนี้ อาจพิจารณาหายืมมาอ่านเฉพาะบทที่ 1 และ 7 หรือหาอ่านสรุปตาม blog ต่างๆ แทนการซื้อมาเก็บไว้ค่ะ

หากเราไม่ค่อยได้รับ input ที่หลากหลาย หรือเพิ่งเริ่มสะสม input การซื้อมาเก็บไว้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจค่ะ จะได้หยิบมาอ่านบ่อยๆ พร้อมกับเรียนลัดด้วยการทำตามเทคนิคต่างๆ ที่ผู้เขียนแนะนำไว้ค่ะ

คะแนนสำหรับ The Power of Input

อิงลองให้คะแนนในหัวข้อต่างๆ ไว้ดังนี้ค่ะ 

อ่านเข้าใจได้ง่าย 4.5/5

ช่วยเพิ่มพูนความรู้/ทักษะ 3.5/5

ความประทับใจโดยรวม 3/5

คุ้มค่า (เงิน/เวลา) 4

หนังสือนี้เหมาะสำหรับ Beginner ค่ะ

คำถามชวนคิด

ปัจจุบันคุณ เลือก รับ รู้ อย่างไร?

หากคุณจะพัฒนาการ เลือก รับ รู้ สัก 3 อย่างในเดือนนี้ คุณจะทำอะไรบ้าง?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง