สิ่งที่น่าดึงดูดใจที่สุดของหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่หน้าปก

แต่เป็นชื่อหนังสือและคำโปรย

"คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า"

แค่อ่านก็ถูกตกทันที 

พอเห็นคำโปรยที่ว่า

"เปลี่ยนช่วงเวลาหลังตื่นนอนของคุณให้เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ"

ปุ่ม "สั่งซื้อสินค้า" ก็ถูกกดทันที

...

อือม ตอนแรกอิงคิดว่าเป็นหนังสือว่าด้วยการตื่นเช้า 

แต่... ปรากฏว่าไม่ใช่

กลับเป็นการวางแผนทำกิจกรรมในแต่ละช่วงเวลาต่างหาก...

เนื้อหาอ่านสบาย อ่านง่าย อ่านได้เร็ว

ว่าแล้วก็มารีวิวกันดีกว่า... 

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

Laura Vanderkam เป็นคุณแม่ลูกสี่ที่เขียนหนังสือและ blog เกี่ยวกับการบริหารเวลา 

แล้ว Laura เอาข้อมูลจากไหนมาเขียนหนังสือ?

สิ่งที่น่าสนใจ คือ นอกจากการหาข้อมูลจากงานวิจัยและบทความ Laura ยังทำการวิเคราะห์บันทึกเวลาของบุคคลต่างๆ (ที่ประสบความสำเร็จในงานตัวของตัวเอง) เพื่อเป็นข้อมูลในการเขียนหนังสือ

(เรื่องของการบันทึกเวลามีประโยชน์มากค่ะ ไว้ไปขยายความต่อในโพสต์อื่นๆ นะคะ)

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

เราอาจจะคิดว่าทุกๆ คนอยากใช้เวลาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ความจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นค่ะ เมื่อสิบกว่าปีก่อนสมัยที่อิงเริ่มสนใจเรื่องการบริหารเวลา อิงไปชักชวนน้องชายให้มาสนใจเรื่องเดียวกัน กลับได้คำตอบว่าการบริหารเวลาสร้างความเครียดให้กับตัวเขา มัน strict เกินไป!

สำหรับอิง เรื่องการบริหารเวลาจึงเป็นการตระหนักรู้ส่วนบุคคล ไม่ใช่ทุกคนจะชอบ และไม่ใช่ทุกคนจะอยากทำตาม ดังนั้นอิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าเพื่อน คือ 

  • ผู้ที่ตั้งใจอยากใช้เวลาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น: เนื่องจากคนกลุ่มนี้มีความตั้งใจอยู่แล้ว ดังนั้นจึงน่าจะเห็นประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าคนอื่นๆ เมื่อเห็นประโยชน์แล้วก็หวังว่าจะนำไปสู่การทดลองปฏิบัติ สิ่งที่น่าจะลองเลยทันที คือ การบันทึกเวลาของตัวเอง เพื่อดูว่าเราจะปรับกิจวัตรของเราได้อย่างไรบ้าง และอย่างที่ผู้เขียนบอกค่ะ ทุกคนมี 168 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่ากัน ไม่ว่าคุณจะเป็นนักศึกษา อาจารย์ พนักงานบริษัท ผู้จัดการ เถ้าแก่ หรือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ อยู่ที่คุณจะเลือกใช้อย่างไร?
  • ผู้อ่านทั่วไป: เอ๊ะ! ไหนบอกว่าไม่ใช่ทุกคนจะชอบเรื่องบริหารเวลา แล้วทำไมผู้อ่านทั่วไปถึงได้ประโยชน์จากหนังสือด้วยหล่ะ? อิงคิดว่าขั้นตอนแรกของการเปลี่ยนผู้อ่านทั่วไปให้หันมาสนใจหรือคิดว่าการบริหารเวลาน่าจะเป็นประโยชน์กับชีวิตเขาบ้าง คือ การเห็นตัวอย่างที่คล้ายคลึงกับตัวเขา คุณ Laura มีตัวอย่างชีวิตที่หลากหลายที่ได้ประโยชน์จากการบริหารเวลา ไม่ว่าจะเป็นตัวเธอเองที่มีลูกเล็ก ผู้บริหารที่มีตารางเวลารัดตัว หรือนักวาดรูปประกอบหนังสือ ที่ดูเป็นงานต้องการความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการถูกจำกัดด้วยกรอบเวลา ประกอบกับสไตล์การเขียนที่เป็นการเล่าเรื่องสอดแทรกเป็นตัวอย่างในแต่ละหัวข้อ น่าจะช่วยให้ผู้อ่านทั่วไปเข้าใจและเกิดแรงบันดาลใจได้ไม่ยากนัก ส่วนการตัดสินใจว่าจะไปต่อในส่วนของการนำไปปฏิบัติหรือเปล่า อันนี้ขึ้นกับแต่ละบุคคลค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

หนังสือแบ่งเป็น 3 ตอนหลักๆ (ไม่รวมบทนำและภาคผนวก) เพราะที่จริงแล้วหนังสือเล่มนี้เกิดจากการนำ e-book 3 เล่ม ของผู้เขียนมาพิมพ์เป็นเล่มเดียวกัน โดยแบ่งเป็น การใช้เวลาช่วงเช้าตามชื่อหนังสือ การใช้เวลาในวันหยุด และการใช้เวลาในวันทำงาน แต่ละบทก็มีเสน่ห์ต่างกันไป มาดูรายละเอียดกันค่ะ

#คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรก่อนมื้อเช้า

การตื่นแต่เช้ามาทำโน่นทำนี่ (แบบมีประสิทธิภาพ) เป็นความใฝ่ฝันของอิงมาตลอด แต่ก็ต้องยอมรับค่ะว่า ถ้าตื่นเช้าสัก 6 โมง นี่พอไหว แต่สักตี 5 มันต้องใช้พลังใจสูงมากค่ะ (หรือสถานการณ์บังคับ เช่น ต้องรีบไปถึงที่ทำงานแต่เช้า เพื่อแย่งที่จอดรถดีๆ)

เพราะการตื่นให้เช้าขึ้น หรือวางแผนตอนเช้าของเราให้มีประสิทธิภาพเป็นเรื่องที่ต้องใช้พลังใจ คุณ Laura จึงเริ่มต้นเนื้อหาในส่วนนี้ด้วยเรื่องเล่าจากบุคคลหลากหลายที่ประสบความสำเร็จในอาชีพต่างๆ รวมถึงตัวเธอเองในบทบาทของคุณแม่ที่มีลูกเล็กๆ ให้คอยดูแลจัดการในช่วงเช้า (จะสังเกตอย่างหนึ่งว่า ในเรื่องเล่าส่วนใหญ่ ผู้ที่ประสบความสำเร็จนิยมออกกำลังกายตอนเช้า.. เป็นเรื่องที่น่าคิดเหมือนกันค่ะ ว่าด้วยบริบทของตัวเราและสภาพการจราจร เราจะออกแบบให้การออกกำลังกายมาอยู่ตอนเช้าได้มั๊ย)

เนื้อหาสำคัญในตอนนี้จะมีอยู่ 2 ส่วน 

  • ส่วนที่ 1 กิจกรรมที่คนสำเร็จที่สุดทำในยามเช้า: ผู้เขียนแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) เอาใจใส่งาน เช่น การคิดและวางแผนเกี่ยวกับการทำงาน 2) เอาใจใส่ความสัมพันธ์ เช่น กิจกรรมที่ใช้เวลาร่วมกับคนที่เรารัก และ 3) เอาใจใส่ตัวเอง เช่น การออกกำลังกาย และทำสมาธิ 
  • ส่วนที่ 2 วิธีปรับปรุงยามเช้าของคุณ: ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ 1) บันทึกการใช้เวลาของคุณ โดยมีตัวอย่างให้ดาวน์โหลดด้วย อิงว่าข้อนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญมาก 2) จินตนาการถึงยามเช้าที่สมบูรณ์แบบ 3) ใคร่ครวญเรื่องการจัดการ เมื่อเรามีข้อมูลแล้ว เราก็ต้องนำมาวิเคราะห์เพื่อปรับกิจกรรมของเรา โดยที่การจัดการเรื่องต่างๆ เพื่อให้กิจกรรมของเราเป็นไปได้หรือเป็นไปอย่างง่ายขึ้นเปรียบเสมือนตัวช่วยการขับเคลื่อนภารกิจนี้ของเราให้สำเร็จไปได้ 4) สร้างกิจวัตร มันคือการลงมือทำให้เป็นนิสัยนั่นเอง ซึ่งผู้เขียนย้ำว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุด และ 5) ปรับเปลี่ยนตามความจำเป็น

#คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรในวันสุดสัปดาห์

ตอนแรกอ่านแล้วเฉยๆ แต่พออ่านๆ ไป เออ... จริงแฮะ พอเราเห็นว่าเป็นวันสุดสัปดาห์ วันหยุด หรือวันขี้เกียจของใครบางคน เวลาที่เรามีเต็มสองวันกลับหายไปไหนไม่รู้ กว่าจะรู้สึกตัวอีกทีก็เย็นวันอาทิตย์แล้ว 

ใจความสำคัญของตอนนี้คือ วันสุดสัปดาห์ก็ต้องการวางแผน เพื่อให้เราได้พักผ่อนอย่างแท้จริง และเตรียมตัวสำหรับการกลับไปทำงานอย่างร่าเริงอีกครั้งในวันจันทร์

#คนที่ประสบความสำเร็จที่สุดทำอะไรในที่ทำงาน

เนื้อหาในบทนี้อาจจะดูคล้ายกับหนังสือที่เกี่ยวกับการบริหารเวลาทั่วไป ที่มุ่งเน้นในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเรา แต่ด้วยสไตล์การเขียนและการนำเสนอในลักษณะกึ่งๆ กฎ กึ่งๆ วิธีการ ทำให้เนื้อหาไม่ได้ซ้ำกับหนังสือเล่มอื่นๆ สักทีเดียว (ที่ปกติจะเน้นเทคนิคเป็นหลัก) และผู้เขียนยังคงสอดแทรกเรื่องเล่าของบุคลลต่างๆ เข้ามาประกอบให้เราเห็นภาพเช่นเดียวกับตอนก่อนหน้านี้

กฎต่างๆ ในตอนนี้มีทั้งหมด 7 ข้อ คือ 

  • กฎข้อที่ 1 สังเกตการใช้เวลาของคุณ (แน่นอน นี่คือจุดเริ่มต้นเหมือนทุกๆ ตอนที่ผ่านมา)
  •  กฎข้อที่ 2 วางแผน
  • กฎข้อที่ 3 ทำให้ความสำเร็จเป็นไปได้
  • กฎข้อที่ 4 รู้ว่าอะไรคืองาน (เมื่อลองคิดตามจะพบว่า บางอย่างที่เราคิดว่าเป็นงาน อาจไม่ใช่งานที่แท้จริงก็ได้ค่ะ)
  • กฎข้อที่ 5 ฝึกฝน
  • กฎข้อที่ 6 สะสมต้นทุนทางอาชีพ (ข้อนี้ดีค่ะ เป็นสิ่งที่หลายคนหลงลืม)
  • กฎข้อที่ 7 ตามหาความสุข (จากการทำงาน)

ความคิดเห็นของฉัน

อิงคิดว่าหนังสือค่อนข้างอ่านง่ายและแตกต่างจากเล่มอื่นๆ ที่เคยอ่านมา (ในหัวข้อของการตื่นเช้า เช่น Miracle Morning และการบริหารเวลา เช่น Getting Things Done) คือไม่ได้เน้นแรงบันดาลใจอย่างเดียว จนเหมือนกับว่าเราจะตื่นเช้าและมีประสิทธิภาพได้โดยอัตโนมัติ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้เน้นวิธีการที่ตายตัวหรือสลับซับซ้อน

อิงว่าจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะลองทำตามข้อแนะนำในหนังสือ คือ การจดบันทึกการใช้เวลาของตัวเราเอง แล้วลองประเมิน พร้อมกับปรับตามแนวทางที่ผู้เขียนแนะนำ เช่น หากเราพบว่าเรามีช่วงเช้าที่หืดจับและเร่งรีบตลอด เราอาจต้องตื่นให้เช้าขึ้น สลับโยกกิจกรรมบางอย่างในช่วงเช้าไปในช่วงเวลาอื่น เพื่อเราจะได้ออกแบบกิจกรรมต่างๆ ในช่วงเวลาเช้าของเราให้ดียิ่งขึ้น (รวมถึงสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้เราอยากตื่นเช้าขึ้นด้วย) เป็นต้น ขอยกตัวอย่างสิ่งเล็กน้อยที่อิงทำ คือ จะเตรียมชุดทำงานไว้ตั้งแต่กลางคืน เช้ามาจะได้ไม่ต้องมานั่งคิดมาก เป็นการเซฟเวลาช่วงเช้าได้ดีเลยค่ะ นอกจากนี้ยังเป็นการเตรียมใจว่าพรุ่งนี้ต้องไปทำงานนะจ๊ะอีกด้วย

ตัวหนังสือเองก็ไม่หนามาก อ่านจบได้ใน  3 - 4 ชั่วโมง มีข้อให้ฉุกคิดเป็นระยะ อิงแนะนำว่าควรมี post-it ไว้ใกล้มือ (หรือปากกา highlight แล้วแต่สไตล์ของเรา) 

อีกจุดนึงที่อิงว่าเป็นเรื่องจริงสำหรับการบริหารเวลา คือ จำกัดสิ่งที่ต้องทำ ให้เหลือแค่ 2 - 3 อย่างที่สำคัญในแต่ละวัน เพื่อที่เราจะได้ทุ่มเททำสิ่งที่สำคัญให้เสร็จได้จริง (หากเวลาเหลือค่อยขยับไปทำสิ่งอื่นๆ เพิ่มเติม) การจำกัดสิ่งที่ต้องทำนั้นจะทำให้เราไม่ฟุ้งซ่าน อยากทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด สุดท้ายกลายเป็นจับจด ทำเยอะอย่างแต่ไม่เสร็จสักอย่าง 

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้

  • เนื้อหาไม่ได้มีอะไรซับซ้อน เป็นเรื่องใกล้ตัวและเข้าใจง่าย
  • มีตัวอย่างหลากหลายอาชีพและการใช้ชีวิต อาจมีสักแบบนึงที่คล้ายๆ กับตัวเราเอง
  • มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยากให้เราฝึกทำตาม
  • มีตัวอย่างบันทึกการใช้เวลาให้เราดูในภาคผนวก
  • สำหรับคนชอบเคล็ดลับ สามารถเปิดไปดูภาคผนวก ที่มี 50 เคล็ดลับการบริหารเวลา ให้เราลองเอาไปปรับใช้

แล้วควรซื้อหรือไม่?

หากถามอิง อิงว่าสิ่งที่ตัวเองได้ประโยชน์คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป 

อิงว่าขั้นตอนต่างๆ ที่ผู้เขียนเรียบเรียงออกมา มันทำได้จริง และบางเรื่องเล่ามันช่วยฉุกคิดได้เป็นอย่างดีค่ะ

คำถามชวนคิด

หากคุณจะนำแนวทางในหนังสือไปใช้ คุณจะเริ่มต้นอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง