ใครๆ ก็อยากมีสไลด์สวย หน้าตาดี 

แบบ... ใครเห็นใครชม

ไม่ว่าจะเป็น infographic style 

หรือ... สไลด์รูปภาพสวยแบบหยุดสายตา

สไลด์แบบนี้เปรียบได้กับ... 

...สไลด์ในฝันค่ะ...

แต่พอถึงเวลาทำสไลด์จริง

ทำไมสไลด์ของเรามันไม่เป็นแบบนั้นนะ...

มัน...ออกจะชวนง่วงมากกว่าจะชวนฝัน

อือม...

มาดูเบื้องหลังในชีวิตจริงกันค่ะ

ว่าเกิดอะไรขึ้น

More...

สไลด์ในฝัน vs สไลด์ในชีวิตจริง

อิงเชื่อว่าเวลาเห็นสไลด์สวยๆ เราต้องเคยคิดว่าอยากให้สไลด์ของเราเป็นแบบนี้จัง ส่วนใหญ่แล้วสไลด์แบบนี้เรามักเห็นจากเว็บไซต์ที่ขาย Template หรือไม่ก็จากงานนำเสนอที่ทำโดยบริษัทรับออกแบบสไลด์โดยเฉพาะ (เช่น ตัวอย่างงานของ Duarte ในรูป A) อิงเรียกสไลด์แบบนี้ว่าสไลด์ในฝัน

หันกลับมาดูความเป็นจริงในชีวิตกันค่ะ เราก็อยากออกแบบสไลด์สวยๆ แต่... ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง ทำให้สไลด์ของเรามักออกมาแบบในรูป B ค่ะ 

ถามว่าสไลด์ในรูป B นั้นแย่มากหรือเปล่า ถ้าเนื้อหายังคงสื่อความได้อย่างมีความหมาย อิงว่าสไลด์นั้นทำหน้าที่แบบคาบเส้น เพราะสื่อสารพอได้ แต่ในสายตากูรูการนำเสนอทั้งหลาย คงให้ตกกระเด็นห่างจากเส้นไปไกล ที่สำคัญสไลด์แบบในรูป B ดูไปสักพักจะชวนให้ง่วงนอน คล้ายยานอนหลับชั้นดี เพียงแต่ไม่ต้องกินเข้าไป ใช้ฟังและดูเอาค่ะ

3 ปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้สไลด์ในฝัน... ไม่เป็นจริงซะที

อย่างที่บอกค่ะ อิงเชื่อว่าหลายๆ คน อยากออกแบบสไลด์ให้เหมือนกับสไลด์ในฝันที่เห็นมา แต่โลกความเป็นจริงนั้นโหดร้ายค่ะ ทำให้เรายังคงต้องใช้สไลด์ Bullet Points กันต่อไป เพราะเรามักขาด 3 ปัจจัยสำคัญนี้ค่ะ

#1 เวลา

ตัวแปรสำคัญแรกเลย คือ เวลา การจะทำสไลด์ที่สวยและดูดี ต้องใช้เวลา แต่ในความเป็นจริงของคนทำงานที่ไม่ได้ทำสไลด์เป็นอาชีพ มักเหลือเวลาในการทำสไลด์แบบไฟลนก้น และเมื่อเวลาเหลือน้อย เราก็เลือกสิ่งที่ทำได้ง่ายที่สุดก่อน คือ สไลด์ Bullet Points นั่นเอง

เทคนิคซื้อเวลา (ที่พอช่วยได้บ้าง)

  • เอาสไลด์เก่ามายำรวมกัน (แต่ควรยำแบบโปรค่ะ ลองอ่านเทคนิคกันต่อในโพสต์นี้ค่ะ)
  • ใช้ Template ที่มีแจกตามเว็บไซต์ (หรือซื้อมา) แล้วมาปรับแต่งให้เข้ากับเนื้อหา
  • ใช้ Canva แทน PowerPoint (แต่ก็มีข้อเสียอยู่บ้าง ลองดูข้อเปรียบเทียบในโพสต์นี้ค่ะ)

#2 กราฟฟิกและรูปประกอบ

สไลด์ในฝันของเรามักมีกราฟฟิกและรูปประกอบที่ได้รับการออกแบบมาเฉพาะเจาะจงสำหรับเนื้อหาในสไลด์ ดูมุมไหนก็สวยและถูกใจ แต่ในความเป็นจริงของคนทำงาน คือ เราจะมานั่งวาดกราฟฟิกหรือออกไปถ่ายรูปเองก็ลำบาก จะซื้อกราฟฟิกหรือรูปถ่ายก็ดูสิ้นเปลืองเกินไป จะใช้กราฟฟิกหรือรูปถ่ายที่ให้ดาวน์โหลดฟรีก็ไม่มีเวลาหาอีก.... (มีแต่อุปสรรค... ชีวิตน่าสงสารมาก) สุดท้ายก็มาลงเอยที่สไลด์ Bullet Points เหมือนเดิมค่ะ

เทคนิคการหากราฟฟิกและรูปประกอบแบบพอไปวัดตอนไม่มืดมากได้

  • ใช้กราฟฟิกและรูปที่ PowerPoint มีให้ (หลากหลาย และไม่ต้องกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ด้วยค่ะ)
  • ใช้รูปถ่ายของเราเองแต่ปรับแต่งด้วย Tab Picture Format 
  • ใช้ Canva เพื่อทำรูปหรือกราฟฟิกอย่างง่าย

#3 ไอเดีย

บางครั้งเราพอมีเวลาอยู่บ้าง อยากออกแบบสไลด์ให้สวยๆ แต่... ไอเดียมันตีบตัน ไม่รู้จะจัดวางองค์ประกอบในสไลด์ยังไง ใส่รูปตรงไหน หรือแม้แต่จะเลือกรูปไหนดีให้เข้ากับเนื้อหาที่จะนำเสนอ

ปัญหานี้เป็นเรื่องปกติของคนทำงานอย่างเราๆ ที่ไม่ได้ออกแบบสไลด์เป็นงานประจำ ซึ่งพอนั่งคิดไปนานๆ ก็ยังคิดไม่ตก แล้วเวลาก็เหลือน้อยลง เลยกลับไปใช้สไลด์ Bullet Points เหมือนเดิมค่ะ

เทคนิคตามหาไอเดีย

  • ดูตัวอย่างจากเว็บไซต์ที่ขาย Template สไลด์
  • ดูตัวอย่างจากหนังสือสอนออกแบบสไลด์
  • ดูตัวอย่างจาก SlideShare

คำถามชวนคิด

คุณมีสไลด์ในฝันหรือเปล่า?

ทำไมในการออกแบบสไลด์ครั้งที่ผ่านมา สไลด์ที่คุณออกแบบถึงไม่เป็นอย่างที่ฝันไว้?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ