เวลาเราเห็นคนอื่นๆ นำเสนอได้ดี 

แบบว่า... ดูเท่ ดู cool ดูเยี่ยม

เราก็อยากทำได้อย่างนั้นบ้าง

แต่มันเหมือนมีอะไรบางอย่าง...

... มาเหนี่ยวรั้งเราไว้

เรา... พูดไม่เก่ง

เรา... หัวไม่ศิลป์พอ

เรา... อะไรอีกหลายอย่าง

...

อย่าไปคิดอย่างนั้นค่ะ

อย่าให้ความเชื่อผิดๆ ที่เราเคยรู้มาเกี่ยวกับการนำเสนอ

... มาเหนี่ยวรั้งเราไว้

มาเคลียร์ใจกันทีละเรื่องกันค่ะ 

More...

ความเชื่อ (ที่ผิด) #1 เราไม่ใช่คนมีหัวด้านศิลปะ

คนจะทำสไลด์สวยๆ ได้ เขาต้องมีหัวศิลปะ 

เราวาดรูปก็ห่วย ระบายสีก็ไม่เก่ง ไม่มีหัวศิลปะอย่างแรง ทำไม่ได้หรอก

ความเชื่อนี้ "ผิด" ค่ะ

การออกแบบสไลด์ให้สวยงาม ไม่ได้ต้องใช้มือวาดรูป ไม่ต้องระบายสี ไม่จำเป็นต้องมีหัวศิลปะระดับวาดรูป abstract ได้ หรือวิจารณ์งานศิลป์ได้

สิ่งที่ต้องใช้ในการออกแบบสไลด์ให้สวยและสื่อความ คือ

  • เข้าใจพื้นฐานด้านการออกแบบเบื้องต้น เช่น สี Font การจัดวางองค์ประกอบในสไลด์ และหลักการสร้าง contrast ที่ดี เป็นต้น
  • เข้าใจวิธีการใช้งานเครื่องมือใน PowerPoint (หรือ โปรแกรมนำเสนออื่น) เช่น การ format รูปทรงและรูปภาพ เป็นต้น เพื่อให้สไลด์นั้นหน้าตาได้อย่างที่เราอยากให้เป็น
  • ความใส่ใจที่จะทำสไลด์ออกมาให้สวยและสื่อความ (ไม่ใช่หัวด้านศิลปะ)

ความเชื่อ (ที่ผิด) #2 เราไม่มีเวลา

ช่วงนี้งานยุ่งมากเลย ไม่มีเวลาเตรียมการนำเสนอหรอก 

คงต้องตัดแปะเหมือนเดิม...

จริงหรือเปล่าคะที่เราไม่มีเวลา

ความเชื่อนี้ "ผิด" ค่ะ

เป็นที่รู้กันว่า 'ไม่มีเวลา' = 'ไม่สำคัญ'

หากสิ่งที่ต้องนำเสนอ คือ การ pitch งาน ระดับ 100 ล้าน 

เรายังไม่มีเวลาอยู่หรือเปล่า?

ที่จริงไม่ต้องถึง 100 ล้าน แค่ 10 ล้าน เราก็น่าจะมีเวลาขึ้นมาทันทีนะคะ

นอกจากการให้ความสำคัญกับการนำเสนอแล้ว อีกสาเหตุนึงของ 'การไม่มีเวลา' คือ เราเองจัดการเวลาในการทำงานได้ไม่ดี 

แต่ก็มีบางครั้ง ที่เราได้รับมอบหมายให้ไปนำเสนออย่างกระทันหัน

ในกรณีแบบนี้ หากเรามีบุญเก่าที่ดีพอ (หมายถึง งานนำเสนอเก่าๆ ที่เตรียมไว้เป็นอย่างดี) เราก็อาจผ่านไปได้ด้วยดี 

ศึกษาวิธีรีไซเคิลบุญเก่าได้ในโพสต์ 

"3 เทคนิค รีไซเคิลสไลด์แบบมือโปร"

ความเชื่อ (ที่ผิด) #3 เราทำสไลด์แบบไหนก็ได้ คนฟังต้องฟังอยู่ดี

เวลาไปฟังสัมมนา สไลด์คนอื่นก็หน้าตาคล้ายๆ ของเรา 

บางคนตัดจากรายงานมาแปะก็มี

ทั้งตารางตัวหนังสือแน่นๆ กับ Bullet Points รัวๆ 

ก็ไม่เห็นมีใครว่าอะไร ก็ต้องก้มหน้าก้มตาฟังกันไป...

ดังนั้น เราโตแล้ว จะทำสไลด์แบบไหนก็ได้ คนฟังก็ต้องฟังอยู่ดี

ความเชื่อนี้ "ผิด" ค่ะ

จริงอยู่ ว่าคนฟังก้มหน้าก้มตาฟังกันไป แต่สังเกตหรือเปล่าคะ ว่าที่เขาก้มหน้าก้มตา เขาเล่นมือถือค่ะ ไม่ได้ฟังผู้นำเสนอพูด...

ตั้งแต่โทรศัพท์มือถือเราเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตได้ ความเชื่อนี้ก็โบราณไปเรียบร้อยค่ะ

เดี๋ยวนี้ผู้ฟังมีประตูวิเศษของโดเรมอนอยู่ในมือค่ะ 

ตัวอาจนั่งอยู่ในห้องประชุม แต่จิตไปท่องเที่ยวอยู่เขาใหญ่ หรือไม่ก็นั่งชมบอลคู่เมื่อคืนนี้อยู่ค่ะ

นอกจากนี้การเตรียมสไลด์อะไรไปก็ได้ เป็นการบอกคนฟังว่า เขานั้นไม่สำคัญพอที่จะให้เราสละเวลามาเตรียมการนำเสนอที่ดีได้

หากอยากปรับปรุงสไลด์เบื้องต้น แนะนำไอเดียในการปรับปรุงสไลด์ตามโพสต์ด้านล่างนี้เลยค่ะ

ปรับปรุงสไลด์ที่เต็มไปด้วย bullet points ได้ด้วยโพสต์ 

"7 ไอเดียในการปรับปรุงสไลด์ bullet points ให้ไฉไลกว่าเดิม"

ปรับปรุงสไลด์ Agenda ให้น่าสนใจ ได้ด้วยโพสต์ 

"3 ไอเดียง่ายๆ ในการเปลี่ยนสไลด์ Agenda ให้โดนใจ"

ความเชื่อ (ที่ผิด) #4 เราพูดไม่เก่ง

เราไม่ใช่คนพูดเก่ง ไม่ได้มีมุกเยอะ ไม่ตลก เสียงโมโนโทน เรา... สรุปง่ายว่าเราคงนำเสนอไม่ได้หรอก

ความเชื่อนี้ก็ "ผิด" ค่ะ

พูดเก่ง กับ นำเสนอเก่ง ไม่เหมือนกันค่ะ

บางครั้งคนพูดเก่งนี่แหละค่ะ ที่นำเสนอได้ไม่ดี เพราะคิดว่าเราพูดเก่งแล้ว ไม่ต้องซ้อม และมักพูดยาว พูดออกนอกรื่อง วนไปวนมา หาที่ลงไม่ได้ค่ะ

การนำเสนอ เป็น ทักษะ หมายความว่า สามารถพัฒนาได้จากการฝึกฝน 

ไม่ว่าเราจะพูดเก่งหรือพูดไม่เก่ง หากอยากนำเสนอให้เก่ง สิ่งที่ต้องทำเหมือนกัน คือ ฝึกฝนค่ะ

นอกจากเนื้อหาการนำเสนอที่เราต้องรู้แล้ว สิ่งที่ต้องฝึก คือ ฝึกสมาธิ ฝึกการพูดนำเสนอให้น่าสนใจ (เช่น การออกเสียง การหยุดพูดในจังหวะที่เหมาะสม การเน้นสิ่งที่สำคัญ เป็นต้น) ฝึกท่ายืน (ใช่ค่ะ เราต้องฝึกยืนให้ดูดีด้วย) และฝึกการเดิน (ไม่ให้เดินพร่ำเพรื่อ)

ปรับปรุงการเดิน ให้ก้าวไปในใจคนฟัง ได้ด้วยโพสต์ 

"เทคนิคการเดินอย่างฉลาด ระหว่างการนำเสนอ"

ย้ำอีกครั้งค่ะ อย่าให้ความเชื่อผิดๆ เหล่านี้มาเหนี่ยวรั้งเราไว้ ทุกคนสามารถฝึกฝนทักษะการนำเสนอที่ดีได้ค่ะ

คำถามชวนคิด

คุณมีความเชื่อเกี่ยวกับการนำเสนออย่างไร?

แล้วความเชื่อนั้นส่งผลกับคุณอย่างไร?

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รู้ลึก vs รู้แค่ผิวๆ
5 เรื่องสำคัญ ในการออกแบบโปสเตอร์นำเสนอ