กินช้างทั้งตัว ต้องกินอย่างไร
คำตอบ คือ ค่อยๆ กินทีละคำ
ฉันใดฉันนั้นค่ะ
ชีวิตเราเป็นอะไรที่ดูใหญ่มาก มีเรื่องมากมายเป็นองค์ประกอบ
ดังนั้นการจัดการชีวิตให้เป็นไปอย่างทีเราคิด
ก็ต้องเริ่มจากก้าวเล็กๆ ทีละก้าว
... จนรวมมาเป็นเส้นทางชีวิตที่เราเป็น
และที่จะก้าวไป
หนังสือเล่มนี้เขียนถึงการจัดการชีวิตของเรา
โดยให้ชื่อหนังสือไว้น่ารักมาก
"มูฟออนชีวิต เริ่มคิดแบบเล็กๆ"
แต่เนื้อหาในหนังสือไม่เล็กแน่นอนค่ะ
มาดูรีวิวกันค่ะ
More...
เกี่ยวกับผู้เขียน
คุณมาสะตะเกะ โฮริ จบการศึกษาปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ เป็นผู้ทำวิจัยเกี่ยวกับความแปรปรวนของสภาพอากาศในขั้วโลกเหนือ (เป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจมากค่ะ เหมือนในเรื่อง A day after tomoroow เลยค่ะ) พร้อมกับเขียนบล็อก "Lifehacking.jp" ซึ่งมีเนื้อหาครอบคลุมเรื่องหลากหลาย
หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร
หนังสือเล่มนี้อ่านง่าย เป็นบทย่อยๆ อ่านได้ทั้งนักศึกษาและคนทำงาน ทั้งคนมีประสบการณ์เยอะและน้อย
อิงว่าคนที่น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากกว่าเพื่อน คือ กลุ่มคนทำงาน แต่การได้ประโยชน์และแนวทางในการอ่านอาจแตกต่างกันไปบ้าง
หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
หนังสือเขียนเกี่ยวกับวิธีคิด วิธีทำ และเทคนิคต่างๆ ที่จะช่วยเพิ่ม productivity ของเรา ครอบคลุมทั้งการอ่าน การคิด การทำงาน การสื่อสาร การใช้ชีวิต ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงนิสัยของตัวเราเอง (เรียกว่า สากกะเบือยันเรือรบนั่นเองค่ะ)
หนังสือแบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 ส่วนหลักๆ เมื่อรวมกับ บทนำ ความรู้เบื้องต้น และบทส่งท้าย ก็จะมีทั้งหมด 12 ส่วนด้วยกันค่ะ โดยใน 9 ส่วนหลักจะมีบทย่อยๆ จำนวนพอสมควรในแต่ละหัวข้อ
ดังนั้นเวลาอ่าน เราสามารถอ่านไล่ไปในแต่ละส่วน หรือเลือกดูส่วนที่เราสนใจอยู่ ณ ตอนนี้ แล้วดูเนื้อหาทีละส่วน หรือถ้ามีเวลาน้อยก็กวาดตาดูบทย่อยๆ ที่จะตอบโจทย์เรา แล้วอ่านเฉพาะบางบทดูค่ะ จะเห็นว่าแค่วิธีการอ่านก็ทำได้หลากหลายมาก เพราะส่วนใหญ่แล้วเนื้อหาในแต่ละบทย่อยจะจบในตอนและไม่จำเป็นต้องอ่านบทก่อนหน้านี้มาก่อน (หากเป็นบทที่ต่อกัน จะชื่อเหมือนกันและมีตัวเลขกำกับไว้)
มาดูรายละเอียดในแต่ละส่วนกันค่ะ
บทนำ
"ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพฤติกรรมเพียงเล็กๆ น้อยๆ"
ประโยคเปิดของบทนำ ที่ผู้เขียนถามว่าเราเชื่อหรือไม่
(แต่อิงคิดว่าสิ่งที่ควรเป็น remark ของประโยคนี้ คือ ขึ้นกับพฤติกรรมที่เราเลือกที่จะเปลี่ยนด้วย)
บทนำนี้เป็นการเกริ่นว่า lifehack คือ อะไร และเจ้าการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ นี่แหละค่ะ ที่จะเปลี่ยนชีวิตเราได้ (แต่อย่าลืมว่า มันขึ้นกับว่าพฤติกรรมนั้น คือ อะไร)
ความรู้เบื้องต้น: อุปรณ์พื้นฐานสำหรับ Lifehack ที่ควรรู้จัก
คุณโฮริอธิบายถึงเครื่องมือพื้นฐานที่เขาใช้และกล่าวถึงในหนังสือ ประกอบด้วย
Section 00: มาเริ่มต้นด้วย "7 Lifehack เปลี่ยนชีวิต"
เริ่มด้วย 7 lifehack ขั้นพื้นฐานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเราได้
อิงว่าการใช้เวลาเป็นสิ่งสำคัญที่บอกว่าชีวิตเราจะเป็นอย่างไร ชีวิตก็เหมือนการปลูกต้นไม้ค่ะ หากไม่เคยเตรียมดินและหว่านเมล็ดอะไรลงไป ก็ไม่มีต้นอะไรขึ้นมา นอกจากรอโชคชะตาให้นกบินผ่านและอึ๋ลงมาพร้อมกับเมล็ดอะไรก็ไม่รู้ (ที่ไม่รู้จะขึ้นหรือไม่ขึ้นด้วยนะคะ เพราะดินอาจแห้งแล้งมาก)
ดังนั้นหากจะเปลี่ยนชีวิตก็ต้องเริ่มเปลี่ยนจากการใช้เวลานี่แหละค่ะ
ตบท้ายของส่วนนี้ด้วยการสร้างกำลังใจในการเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย "การสร้าง 'ชัยชนะเล็กๆ' ทุกวันด้วยพฤติกรรมเพียงเล็กน้อย" เพราะชัยชนะใหญ่ๆ นั้นใช้เวลาและความพยายามที่มีพื้นฐานจากชัยชนะเล็กๆ ในแต่ละวัน เช่น การมีสุขภาพฟันที่ดีก็มาจากความสม่ำเสมอในการดูแลรักษาฟันในทุกๆ วันนั่นเอง
Section 01: บริหารเวลา "เวลาเพิ่มได้"
ในส่วนนี้มี 32 หัวข้อย่อย ที่เริ่มกันตั้งแต่การประเมินเวลาที่เราใช้ในแต่ละกิจกรรม (ถึงขั้นให้ใช้นาฬิกาจับเวลาในกิจกรรมต่างๆ กันเลยทีเดียว) หลายคนอาจจะคิดว่า โห! ต้องขนาดนั้นเลยหรอ แต่อิงเห็นด้วยนะคะ ถ้าเราไม่เคยรู้ว่าเราใช้เวลาในแต่ละกิจกรรมเท่าไหร่บ้าง เราจะบริหารจัดการเวลาในแต่ละวันได้อย่างไร ยกตัวอย่างเช่น ในแต่ละโพสต์ อิงจะใช้เวลาประมาณ 3 - 4 ชั่วโมงต่อโพสต์ หากเป็นการรีวิวหนังสือจะใช้เวลามากกว่านี้ประมาณ 2 - 4 เท่า เพราะต้องอ่านหนังสือให้จบก่อนด้วย เป็นต้น
หัวข้อย่อยที่อิงคิดว่ามีประโยชน์มาก คือ
หัวข้อ 27 Eisenhower Matrix (เป็นเครื่องมือสำคัญในหนังสือ 7 Habits ของ Stephen R. Covey) ที่แบ่งสิ่งที่เราต้องทำตามความสำคัญและความเร่งด่วน คุณโฮริให้คะแนนกำกับไว้ในแต่ละ matrix เพื่อช่วยให้เราแบ่งงานได้ง่ายขึ้นด้วยค่ะ
หัวข้อ 28 ใช้หลักการ 80:20 (Pareto)ให้เป็นประโยชน์ หลักการนี้เราน่าจะคุ้นเคยกันอยู่ กล่าวคือ ผลของงาน 80% ที่ได้ เกิดจาก 20% ของสิ่งที่เราทำ (สิ่งสำคัญนั่นเอง) อันนี้ต้องอาศัยประสบการณ์และการฉุกคิดนิดนึงค่ะ ไม่งั้นเราก็จะทุ่มเททำสิ่งที่เป็น 80% ที่ให้ผลแค่ 20% ทั้งที่เราควรหางานสำคัญที่ทำให้เกิดผล 80% และทำอย่างทุ่มเทก่อน
Section 02: การจัดการ task ต่างๆ "สั่งสมชัยชนะอันเล็กน้อยให้ได้มากๆ"
ในส่วนนี้มี 37 หัวข้อย่อย เมื่อประเมินเวลาในกิจกรรมหลักและทำบ่อยของเราได้แล้ว ก็ได้เวลามาจัดการเวลา เครื่องมือที่คุณโฮริแนะนำ คือ to do list (มีหลายรูปแบบให้เลือกใช้ ตั้งแต่สมุดโน้ต ไปจนถึง application ในโทรศัพท์) แนวคิด GTD (Getting things done ของ David Allen) และเทคนิคย่อยๆ อื่นๆ อีก
ส่วนนี้อาจจะเครียดหน่อยค่ะ และต้องอาศัยการทำจนเป็นนิสัยถึงจะเห็นการเปลี่ยนแปลงได้
Section 03: วิธีสร้างสมาธิและจัดการกับความเครียด "สร้างกำลังใจในการทำงานอย่างเป็นระบบ"
ในส่วนนี้มี 33 หัวข้อย่อย ที่แนะนำเทคนิคต่างๆ ในการสร้างสมาธิและจัดการกับความเครียด ว่าแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเครียด เทคนิคง่ายๆ ที่เพื่อนหมอของอิงแนะนำมา คือ ให้สังเกตวิธีการหายใจของตัวเอง หากเราหายใจสั้นและเริ่มรู้สึกเหนื่อยง่าย มีแนวโน้มว่าเราจะเครียดค่ะ
ในหัวข้อต้นๆ ของส่วนนี้จะแนะนำเทคนิคในการแบ่งเวลาในการทำงานและเวลาพัก เช่น 48:12, วิธี dash, batch processing และ Pomodoro เป็นต้น ต้องลองแล้วสังเกตตัวเองค่ะ ว่าเทคนิคไหนเหมาะกับตัวเราและงานของเรามากกว่ากัน โดยส่วนตัวอิงชอบ Pomodoro ค่ะ (อ่านรีวิวการใช้ Pomodoro ได้ที่นี่) หากอยากลองใช้สามารถดาวน์โหลด Application มาช่วยได้ด้วยนะคะ ค้นหาคำว่า Pomodoro ใน App store ได้เลยค่ะ (มีทั้งฟรีและเสียตัง)
ส่วนที่เหลือในบทจะผสมกันระหว่างการสร้างสมาธิและจัดการความเครียด แนะนำให้อ่านและลองปรับใช้กับเราค่ะว่าเราเหมาะกับวิธีไหน
แถมนิดนึงค่ะใน Apple watch จะมี Application ชื่อว่า Breath ซึ่งจะแจ้งเตือนให้เราฝึกการหายใจ หากใครมี Apple watch อย่าลืมเปิดใช้นะคะ ช่วยได้มากเลย
Section 04: อ่าน รวบรวมข้อมูล และเรียนรู้ "ลดปริมาณข้อมูลก่อนนำมาจัดการ"
ในส่วนนี้มี 37 หัวข้อย่อย ที่ช่วยให้เราลดปริมาณข้อมูลก่อนนำมาจัดการ เช่นเคยค่ะ คุณโฮริแนะนำเทคนิคต่างๆ ไว้อย่างมากมายให้เราได้เลือกใช้
อิงชอบเรื่อง Deep Work ที่สุด เพราะทำแล้วได้ผลมาก เป็นแนวคิดที่ช่วยเสริมสร้างสมาธิและ flow ในการทำงานของเรา แต่การจะเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า Deep Work นั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดั่งใจนึก แนะนำให้ลองอ่านเล่มเต็มของ Cal Newport ค่ะ หากอยากทำ Deep Work อย่างจริงจัง (อ่านรีวิวได้ที่นี่)
Section 05: การสร้างสรรค์ความคิด แนวคิด และผลลัพธ์ที่ได้ "บางไอเดียก็มีแต่เราเท่านั้นที่จะคิดได้"
ในส่วนนี้มี 20 หัวข้อย่อย ที่เกี่ยวกับ output ต่างๆ ทั้ง การคิด การเขียน และการนำเสนอ โดยมีหลากหลายเทคนิคให้ลองเช่นเคย เปิดมาก็เห็นด้วยอย่างยิ่งทันทีค่ะ กับหัวข้อย่อย 147 ที่ว่าทุกความคิดเกิดจากการ remix ซึ่งเป็นเทคนิคนึงในการสร้างไอเดียที่คุณโฮริแนะนำ (พอดีช่วงนี้กำลังอ่านหนังสืออีกเล่ม คือ วิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด เลยกำลังอินกับการรู้กว้างและ remix สิ่งที่รู้เข้าด้วยกันให้ได้ไอเดียใหม่ๆ) ที่จริงหนังสืออีกเล่มนึงที่พูดถึงการ remix ไว้ดีทีเดียว คือ Steal like an artist ที่โด่งดังของ Austin Kleon ลองหามาอ่านกันได้ค่ะ
อีกหัวข้อย่อยที่อิงเห็นด้วยมากๆ คือ การเขียนบล็อกคือการฝึกทำ output ที่ดีที่สุด อันนี้ประสบมากับตัวเอง สมัยเด็กๆ อิงไม่ชอบการเขียนเรียงความเลย น่าเบื่อที่สุด แถมยากอีกต่างหาก แต่พอต้องมาเขียนโพสต์ทุกอาทิตย์ มันก็เหมือนเราฝึกไปเรื่อยๆ อาจยังไม่ดีมากในตอนนี้ แต่ก็ดีขึ้นกว่าเมื่อวันที่เราเริ่มต้นแน่นอน
Section 06: การสื่อสาร & การทำงานเป็นทีม "เราสามารถหาเพื่อนร่วมทีมเพิ่มได้"
ในส่วนนี้มี 22 หัวข้อย่อย ที่หลากหลายมาก เพราะการสื่อสารและการทำงานเป็นทีมเป็นหัวข้อที่กว้างมาก คำแนะนำในส่วนนี้มีตั้งแต่เรื่องง่ายๆ เช่นการเก็บ e-mail เรื่องงานไว้ใน archive และการใช้ chameleon effect โดยเลียนแบบท่าทางฝ่ายตรงข้ามระหว่างสนทนา (เทคนิคนี้ถูกพูดถึงบ่อยๆ ในหนังสือ how-to เรื่องการสื่อสาร ว่าช่วยสร้าง rapport หรือความคุ้นเคยให้กับอีกฝั่งหนึ่งได้โดยไม่รู้ตัว)
หัวข้อย่อยที่อิงคิดว่าต้องเอาไปใช้แน่นอนคือ การติดตามงานที่มอบหมายให้ผู้อื่น โดยคุณโฮริแนะนำให้มี checkpoint 3 จุด คือ ในวันรุ่งขึ้น (เพื่อตรวจสอบความเข้าใจ) เมื่อผ่านไปสักระยะ (เพื่อตรวจสอบว่างานเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องหรือไม่ และเผื่อต้องปรับเปลี่ยนอะไรเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป) และก่อนครบกำหนด 3 วัน (เผื่อต้องการจะเพิ่มอะไร จะได้ยังพอมีเวลาอยู่บ้าง)
หากคุณเป็นคนทำงาน อิงว่าต้องมีสักหลายๆ ข้อ ที่เข้ากับสถานการณ์ที่เจออยู่และน่าเอาไปทดลองใช้ค่ะ
Section 07: ชีวิตประจำวันและการเดินทางท่องเที่ยว "เพิ่มความสะดวกสบายให้ตัวเองสักหน่อย"
ในส่วนนี้มี 37 หัวข้อย่อย ที่จะพาเราไปรู้จักกับอุปกรณ์ application และเทคนิคในการจัดการเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่การม้วนสายหูฟัง (ไม่ให้พันกัน) ต่อที่เก็บของด้วย Lego ไปจนถึงวิธีป้องกันร่มหาย รวมไปถึงการใช้อุปกรณ์จัดเก็บที่ซื้อจาก MUJI และร้านอื่นๆ มาช่วยในการจัดระเบียบของ อิงชอบการเก็บของกลางอากาศด้วยแผ่นแม่เหล็ก ถือว่าแปลกใหม่มาก แต่ไม่น่าเชื่อว่า พอหันไปมองโต๊ะของคนใกล้ตัว โอ... ไม่ต้องอ่าน lifehack ก็เก็บของกลางอากาศได้เหมือนกัน (มันอยู่ที่ความขยันหาตัวช่วยนั่นเอง)
ส่วนในเรื่องของการเดินทาง อิงชอบหัวข้อที่เกี่ยวกับ jet lag หากต้องเดินทางครั้งหน้า (น่าจะอีกนาน) อิงต้องใช้บริการเว็บไซต์คำนวณการปรับเวลากินและนอนเพื่อลดอาการ jet lag ที่คุณโฮริแนะนำแน่นอนค่ะ
Section 08: เทคนิคการทำให้เป็นนิสัยและไม่ล้มเลิกกลางคัน "พฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ที่จะเปลี่ยนชีวิตของเรา"
ในส่วนนี้มี 25 หัวข้อย่อย เราคงไม่สามารถทำ lifehack ทั้ง 225 ข้อที่อ่านมาก่อนหน้านี้ได้ สิ่งสำคัญ คือ เลือกสิ่งที่คิดว่าอยากทำ ลองทำ ปรับเปลี่ยน ให้เหมาะกับตัวเรา และไม่ล้มเลิกกลางคัน เจ้าส่วนสุดท้ายนี้ คือ 25 หัวข้อย่อยที่อยู่ในบทนี้ค่ะ
คุณโฮริ แนะนำเทคนิคและ Application ต่างๆ ที่จะช่วยให้เราทำสิ่งเล็กๆ นั้นให้เป็นนิสัยและไม่ล้มเลิกไปซะก่อน หลายหัวข้อย่อยแปลกใหม่ดีค่ะ เป็นวิธีที่ไม่เคยอ่านเจอมาก่อน น่าสนใจทีเดียว
สำหรับอิง หัวข้อย่อยที่ 234 เชื่อมโยงพฤติกรรมใหม่ให้เข้ากับกิจวัตรเดิมด้วยการ "ต่อกิ่ง" เป็นวิธีที่ work มาก เช่น อิงจะกินอาหารเสริมก่อนกินกาแฟ (เพราะต้องกินกาแฟทุกวัน เลยต้องกินอาหารเสริมทุกวัน ด้วยเหมือนกัน) เป็นต้น
บทส่งท้าย
คุณโฮริให้คำแนะนำส่งท้ายว่า ให้เริ่มลองทำตาม lifehack ต่างๆ สัก 2-3 อย่างก่อน ค่อยๆ ทำไป จนเมื่อชินเป็นนิสัยแล้ว ขอให้ลืม lifehack ต่างๆ ไปได้เลย... (สุดยอดเคล็ดวิชา คือ ได้กระบี่แล้วลืมกระบี่ นั่นเอง)
ความคิดเห็นของฉัน
ถึงแม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่ในหนังสือจะซ้ำกับสิ่งที่อิงเคยอ่านมาจากหนังสือเล่มอื่นๆ แล้ว แต่อิงก็ชอบหนังสือเล่มนี้นะคะ อิงใช้วิธีอ่านตะลุยไปเรื่อยๆ แต่อ่านเร็วหน่อย บางบทก็ใช้สแกนให้ผ่านตาเอา ถือเป็นการทบทวนสิ่งที่รู้แบบประหยัดเวลา อย่างเรื่อง GTD อิงเคยอ่านตั้งแต่เมื่อสิบกว่าปีก่อน และเอามาใช้บางส่วนตอนตัดสินใจเรื่องงานกับการจัดการเอกสาร แต่เนื้อหาอื่นๆ ก็ลืมไปแล้วค่ะ ก็ถือเป็นการทบทวนและชี้ให้เห็นจุดที่น่าสนใจบางอย่าง เลยย้อนกลับไปดูที่หนังสือต้นฉบับอีกครั้ง
อีกสิ่งหนึ่งที่ชอบ ขอชมสำนักพิมพ์นะคะ ไม่รู้ว่าหน้าปกและการจัด layout ลอกจากต้นฉบับมา 100% หรือเปล่า แต่อิงชอบสีหน้าปก (สีฟ้าพาสเทลสวยงาม) และการจัดวางเนื้อหาในเล่มค่ะ เช่น การใช้ตัวหนังสือสีฟ้าเน้นสิ่งที่สำคัญ เป็นต้น
จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ คือ
สรุปว่า... ควรซื้อมั๊ย?
ถ้าถามว่าควรซื้อหนังสือเล่มนี้มั๊ย คุ้มหรือเปล่า ให้ถามตัวเองค่ะว่าเราเป็นนักอ่านประเภทไหน
ถ้าไม่คุ้นกับหนังสือ how-to แล้วต้องการอ่านแนวคิดแบบรวมเล่ม ถือว่าน่าซื้อมาอ่านค่ะ แล้วค่อยดูว่าเราสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษแล้วไปหาอ่านต่อ
ถ้าคุณคุ้นกับหนังสือ how-to อยู่แล้ว ต้องถามตัวเองค่ะ ว่าจะจ่ายค่าหนังสือเพื่อทบทวนความรู้หรือเปล่า หรือจะไปเปิดหนังสือ how-to อื่นๆ (หลายๆ เล่ม) ที่มีอยู่แล้วแทน
คำถามชวนคิด
คุณเชื่อหรือไม่ว่า "ชีวิตคนเราเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพฤติกรรมเพียงเล็กๆ น้อยๆ"
แล้วพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของคุณนั้น คืออะไร?