ตอนอิงไปญี่ปุ่นเมื่อปลายปี 2019 เวลานั่งรถไฟจะเห็นโฆษณาหนังสืออยู่เล่มนึง The Power of Output แค่เห็นชื่ออิงก็ว่าน่าอ่านมาก แต่หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรนั้น ไม่สามารถรู้ได้เลยค่ะ เพราะเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน

พอปลายเดือนที่แล้ว (พฤษภาคม 2020) อิงเห็นปกหนังสือเล่มนึงระหว่างช้อปปิ้งหนังสือออนไลน์ เอ๊ะ... เล่มเดียวกันหรือเปล่านะ 

พอคลิกเข้าไปดูก็... 

ใช่เลยค่ะ มันคือเล่มเดียวกับที่เห็นที่ญี่ปุ่น แต่... มีเป็นภาษาไทยแล้วจ้า

รีบสั่งมาด้วยความดีใจ 

พออ่านแล้ว... ก็อยากรีวิวทันที

(ถ้าจะรีวิวหนังสือถี่ซะขนาดนี้ อาจต้องเปลี่ยนเป็นเพจรีวิวหนังสือแทนซะแล้ว)

ตามมาดู แล้วตื่นเต้นไปพร้อมกันนะคะ

More...

เกี่ยวกับผู้เขียน

คุณชิออน คาบาซาวะ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้เป็นจิตแพทย์ที่เผยแพร่ข้อมูลมากที่สุดในญี่ปุ่น (ตามคำโปรยในหนังสือ) แถมยังเป็นนักอ่านหนังสือตัวยง เดือนละ 20 เล่มขึ้นไปเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว

(โอ... เท่ากับปีละ 240 เล่มทีเดียว...)

นอกจากนี้คุณคาบาซาวะยังออกหนังสือใหม่ทุกปีอีกต่างหาก

(มีหลายเล่มแปลเป็นภาษาไทยแล้วค่ะ แต่อยู่กับค่าย welearn)

คุณคาบาซาวะได้เผยเคล็ดลับบางส่วนที่ทำให้เขาเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ อย่างสม่ำเสมอไว้ในหนังสือเล่มนี้ด้วย พูดตรงๆ ค่ะ ยังคงสงสัยอยู่ว่าใช้เวลาได้มีประสิทธิภาพขนาดนี้เลยหรอเนี่ย

หนังสือนี้น่าจะเหมาะกับใคร

หลังจากอ่านจบ อิงมานั่งคิดว่าใครน่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้บ้าง แล้วหนังสือเล่มนี้น่าจะเหมาะกับผู้อ่านกลุ่มไหนบ้าง เลยสรุปเรียงตามลำดับได้ดังนี้ค่ะ

  • กลุ่มที่ 1 น้องๆ ที่เพิ่มจบมาแล้วเริ่มทำงานได้ไม่นาน: ในความเห็นของอิง กลุ่มที่ 1 น่าจะได้ประโยชน์จากหนังสือเล่มนี้มากที่สุด เพราะมีเวลาหมุน input เป็น output แล้วก้าวต่อไปในหน้าที่การงานได้อีกยาว และคำแนะนำในหนังสือโดยเฉพาะเรื่อง พูด เขียน และทำ (ตามหมวดหมู่ที่คุณคาบาซาวะแยกไว้) สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับคนกลุ่มนี้ได้เกือบทุกข้อ 
  • กลุ่มที่ 2 เด็กๆ ที่ยังเรียนหนังสืออยู่: บางส่วนของหนังสือเล่มนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการเรียนหนังสือได้เป็นอย่างดี เช่น การทำแบบฝึกหัดเยอะๆ (เป็น output แบบนึง) การช่วยสร้างความเข้าใจโดยการสอนเพื่อน เป็นต้น
  • กลุ่มที่ 3 คนที่ทำงานมาซักพักใหญ่แล้ว แต่อาจคิดว่าตัวเองน่าจะไปได้ไกลกว่านี้: อิงว่าปัญหาของคนส่วนนึง คือ ไม่ค่อยนำ feedback กลับมาพัฒนา output ครั้งหน้าให้ดีขึ้น หรือเรียกง่ายๆ ว่า ไม่ค่อยได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของตนเอง นอกจากนี้อีกกรณีนึงที่เกิดขึ้น คือ กลัวความผิดพลาด เลยพยายามไม่ทำ output ออกมา เลยย่ำอยู่ใกล้ๆ จากที่เริ่มต้น ดังนั้นการฝึกทำ output แบบที่เอา feedback ที่ได้ไปพัฒนาปรับปรุง น่าจะช่วยให้คนกลุ่มนี้ไปได้ไกลกว่าเดิมค่ะ

หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง

สิ่งหนึ่งที่อิงว่าเป็น key message สำคัญของหนังสือเล่มนี้เลย คือ ต่อให้คุณเอา input เข้าไปให้ตาย แต่ถ้าไม่มี output ออกมา ไม่นานก็ลืม และทำให้เราไม่พัฒนาไปเท่าที่ควรจะเป็น 

แต่ถ้ามีแค่ input กับ output ก็จะเปรียบเสมือนเราเดินอยู่ในวงกลม คือ หมุนวนไปเรื่อยๆ (ถือว่าไม่มีการพัฒนาขึ้น) 

การจะทำให้วงจรนี้สมบูรณ์ คือ ต้องมี input output และ feedback ค่ะ

ลองนึกภาพอย่างนี้ค่ะ เมื่อเรามี input เข้ามา (เช่น อ่านหนังสือ ดูคลิปความรู้ หรือฟัง podcast) เราจะมีความรู้มากขึ้น จากนั้นเราก็ต้องผลิต output ออกมา ตอนนี้เหมือนเราเดินมาครึ่งวงกลมแล้ว คราวนี้หากเราได้รับ feedback แล้วนำมาปรับปรุงในการใส่ input เข้ามา (เช่น เรียนรู้เรื่องที่เรายังไม่รู้ หรือพลาดไป) ก็เหมือนเราเดินมาขึ้นบันไดวนแทนที่จะเดินเป็นวงกลมบนพื้นราบ เมื่อเราปรับปรุง input แล้ว เราก็เอา feedback มาปรับปรุง output ด้วย (เช่น ต้องปรับปรุงการเขียนรายงานให้กระชับขึ้น เป็นต้น) เปรียบเสมือนเราเดินขึ้นบันไดวนสูงขึ้นไปอีก หากเราทำต่อไปเรื่อยๆ ก็จะพัฒนาสูงขึ้นเรื่อยๆ ค่ะ

Output ที่คุณคาบาซาวะ เขียนไว้ครอบคลุม การพูด เขียน และทำ ซึ่งเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้

หนังสือประกอบด้วย 5 บทหลัก โดยแต่ละบทหลักจะมีหัวข้อย่อยๆ (1 - 6 หน้า) เป็นหัวข้อย่อยๆ ลงไปอีก ทำให้เวลาอ่านไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกัน แค่มีเวลาไม่กี่นาทีก็อ่านได้หนึ่งหัวข้อย่อยแล้ว แถมท้ายในแต่ละบทย่อยจะมีสรุปเพื่อทบทวนกันอีกรอบด้วยค่ะ  

มาดูรายละเอียดของแต่ละบทกันค่ะ

บทที่ 1 กฎพื้นฐานของ Output

ในบทนี้จะมีอีก 9 หัวข้อย่อย เริ่มจากการอธิบายว่า output คืออะไร ครอบคลุมอะไรบ้าง แล้วทำไม output ถึงสำคัญต่อการพัฒนาตนเอง (ในบทนี้จะพูดถึง key message หลัก ที่อิงเล่าไปตอนต้น) จากนั้นจะอธิบายถึงกฎพื้นฐานของ output อันที่สะดุดตาและสะดุดความคิด คือ อัตราส่วนที่ดีที่สุดของ output ที่คุณคาบาซาวะแนะนำ คือ input 3 output 7 นั่นหมายความว่าหากคุณเป็นคนอ่านหนังสือเยอะมาก (input) แต่ไม่ค่อยได้เอาไปต่อยอด เอาไปพูด เขียน หรือ ทำ คุณจะแทบไม่มี output ออกมาเลย (แถมมีแนวโน้มจะลืมสิ่งที่อ่านภายในเวลาไม่นาน) อัตราส่วนก็จะกลายเป็น input 10 output 0

หัวข้อย่อยที่อิงชอบในบทนี้ คือ เรื่องของวิธีการสร้าง feedback ที่ได้ผลดี การที่คนเราจะพัฒนาขึ้นได้ต้องอาศัยการแก้ไขข้อด้อยและพัฒนาข้อดี (ให้ทายกันเล่นๆ ค่ะ ว่าอันไหนยากกว่ากัน ก่อนที่จะอ่านย่อหน้าต่อไปค่ะ)

คุณคาบาซาวะเปรียบเทียบการพัฒนาข้อดี เสมือนการที่เราทำโจทย์แบบฝึกหัดแล้วถูกก็ขยับไปทำข้อที่ยากขึ้น แต่หากเราทำผิดแล้วมาทบทวนว่าเราผิดตรงไหน ต้องแก้ไขอย่างไรเพื่อไม่ให้ผิดอีก นี่เป็นการพัฒนาข้อด้อย (แน่นอนค่ะว่าการพัฒนาข้อด้อยเหนื่อยกว่าทั้งกายและใจ ไม่ค่อยมีใครอยากเห็นว่าตัวเองพลาดตรงไหน)

บทที่ 2 วิธีพูดสื่อสารโดยใช้หลักการวิทยาศาสตร์

ในบทนี้มี 30 หัวข้อย่อย คนส่วนใหญ่ใครๆ ก็พูดได้ (ถ้าไม่ได้มีปัญหาเรื่องการพูด) แต่พูดเป็นหรือเปล่านั่นอีกเรื่องค่ะ เนื้อเรื่องในหัวข้อต่างๆ ครอบคลุมตั้งแต่การพูดสื่อสารธรรมดา การพูดปฏิเสธ การขอโทษ การดุ การชมเชย การอธิบาย การแนะนำตัว การขาย และการขอบคุณ 

เนื่องจากเนื้อหาในแต่ละหัวข้อย่อยเป็นลักษณะของคำแนะนำและเทคนิคในเรื่องนั้นๆ ทำให้พออ่านแล้วเราสามารถนำไปทดลองใช้ได้ทันที อิงชอบหัวข้อ 'การแนะนำตัว' ค่ะ ที่เราควรเตรียมการแนะนำตัวไว้ 2 แบบ คือ 30 วินาที และ 60 วินาที เวลาไปประชุมกลุ่มย่อยกับคนอื่นหรือไปร่วมฝึกอบรม เรามักต้องแนะนำตัวก่อนที่จะเริ่มเสมอ ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแค่บอกชื่อและหน่วยงาน แต่รูปแบบการแนะนำตัวที่เราควรสร้างความแตกต่างด้วยนั้นถือว่าน่าสนใจและน่าเอาไปใช้มากค่ะ

อีกบทนึงที่อิงคิดว่าเป็นสิ่งที่น้องๆ ที่เพิ่งเริ่มทำงานได้ไม่นานจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ คือ การขอบคุณ จากประสบการณ์อิงว่าคนที่รู้จักพูดขอบคุณให้เป็นนิสัยจะดูอ่อนน้อมและเป็นที่เมตตาของคนรอบข้างมากกว่าค่ะ

บทที่ 3 วิธีเขียนที่ช่วยดึงศักยภาพออกมาได้มากที่สุด

ในบทนี้มี 29 หัวข้อย่อยที่พูดถึงเทคนิคและรูปแบบการเขียนต่างๆ เช่น การเขียนด้วยมือ เทคนิคในการเขียนบทความให้เก่งและเร็วขึ้น การเขียนใส่การ์ด การทำ presentation slide การสรุปความ และการวาดแผนผัง เป็นต้น

(รวมถึงการลงทุนกับเครื่องเขียนและสมุดที่มีกระดาษเนื้อดีด้วย เป็นคำแนะนำนที่ถูกใจคนชอบเครื่องเขียนอย่างอิงมากค่ะ จะได้มีข้ออ้างกับตัวเองในการซื้อต่อไป)

เนื้อหาในบทนี้ดูเหมือนไม่ยาก แต่... อิงเชื่อว่าทุกคนคงจำประสบการณ์ตอนเขียนเรียงความส่งครู ที่เรานั่งจ้องกระดาษเปล่าอยู่ครึ่งค่อนวัน ยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนอะไร และการเขียนคำแรกลงไปเหมือนต้องคำสาป เขียนไม่ลงสักที...

แต่การเขียนเป็นทักษะอย่างหนึ่งที่ฝึกได้และเห็นผลได้อย่างชัดเจน เมื่อมี output ออกมามากๆ (เขียนบ่อยๆ) หมั่นแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น (ด้วย feedback) เราจะเก่งขึ้นอย่างแน่นอนค่ะ 

ในบทนี้จะมีเนื้อหาอยู่เรื่องนึงที่ดูจากชื่อแล้วเหมือนไม่เกี่ยวกับการเขียน นั่นคือ 'การเหม่อลอย' แต่พออ่านแล้วก็คล้อยตามค่ะ หลายๆ ครั้งไอเดียดีๆ ประโยคเด็ดๆ ที่เขียนออกมาก็เป็นผลจากการเหม่อลอยนั้่นเอง ส่วนวิทยาศาสตร์เบื้องหลังการเหม่อลอย ตามไปอ่านต่อได้ในเล่มค่ะ

เทคนิคที่อิงชอบมากที่สุดในบทนี้ คือ การเขียนใส่การ์ด (บางคนอาจใช้ post it แผ่นใหญ่แทน) มันคือการระดมสมองกับตัวเองในรูปแบบนึง บางครั้งตอนเราเริ่มคิดเราอาจยังไม่เห็นภาพทั้งหมดค่ะ การเขียนใส่การ์ดเหมือนเราเคาะสิ่งที่เราคิดในสมองออกมาฉายภาพอยู่ข้างหน้าเรา คราวนี้จะเพิ่ม จะลด จะสลับลำดับ จะจับกลุ่ม ก็ง่ายขึ้นแล้วค่ะ

ส่วนเทคนิคที่อิงชอบและพยายามทำมาตลอดชีวิต แต่ไม่เคยสำเร็จ คือ จดแทรกลงไป นั่นคืออ่านหนังสือไป จดสิ่งที่เราคิดลงไปตรงที่ว่าง ยอมรับค่ะว่าอยากทำมาก ทำได้อยู่แป๊บๆ ก็เลิก เพราะอยากให้หนังสือดูเนี้ยบเหมือนตอนซื้อมา ทำใจไม่ได้ แต่เอาใหม่ๆ ไหนๆ คุณคาบาซาวะเชียร์ซะขนาดนี้ จะพยายามในหนังสือเล่มต่อไปค่ะ

บทที่ 4 พลังแห่งการลงมือทำของคนที่สร้างผลงานได้ดีเยี่ยม

ในบทนี้มี 21 หัวข้อย่อย ครอบคลุมเรื่องต่างๆ ที่ไม่อยู่ในพูดกับเขียน ดังนั้นหัวข้อจะหลากหลายนิดนึงค่ะ ตั้งแต่การสอน การตัดสินใจ การเป็นผู้นำ หรือแม้แต่ด้านที่จะออกแนวอารมณ์หน่อย เช่น ยิ้ม ร้องไห้ โกรธ เป็นต้น

จากประสบการณ์ อิงว่าการสอนเป็นการลงมือทำที่เยี่ยม และเป็นการทบทวนความรู้และความคิดตัวเอง กระบวนการคิดและถ่ายทอดนี้เองจะช่วยให้สิ่งที่เรารู้ได้รับการพัฒนาขึ้น แถมติดตัวติดหัวเราไปอีกนานเลยค่ะ หากคุณยังไม่เคยสอนใคร แนะนำว่าเริ่มจากง่ายๆ คือ เสนอตัวเพื่อสอนเรื่องที่เราถนัดในที่ทำงานค่ะ นอกจากเป็นการสร้างคุณค่าให้ตัวเองเพิ่มขี้นแล้ว ยังช่วยให้เราพัฒนาตัวเองขึ้นด้วย

คุณรู้มั๊ยว่ามืออาชีพกับมือสมัครเล่นต่างกันอย่างไร มือสมัครเล่นจะทำเมื่อมีอารมณ์อยากทำ แต่มืออาชีพทำทั้งๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในอารมณ์ที่อยากทำ แต่ทำเพราะความมีวินัยในตัวเอง คุณคาบาซาวะแนะนำวิธีการสู้กับความไม่อยากลงมือทำ คือ ให้ตัดใจลงมือทำไปก่อนสัก 5 นาที จากนั้นความตั้งใจและความไหลลื่นจะตามมาเอง เป็นเทคนิคที่น่าสนใจทีเดียว (เราจะเป็นมืออาชีพกันแล้วค่ะ)

บทที่ 5 7 วิธีฝึกเพื่อเพิ่มทักษะในการทำ Output

ในบทนี้มี 7 หัวข้อย่อย แต่ละหัวข้อจะพูดถึงวิธีฝึกเพื่อเพิ่มทักษะในการทำ output ถือเป็นการรวบสิ่งที่เขียนในบทที่ 2 ถึง 4 มา เป็นแบบฝึกหัดให้เราไปผลิต output ในรูปแบบต่างๆ หากสังเกตให้ดีจะพบว่าวิธีฝึกทั้ง 7 ข้อนั้นเน้นการเขียนเป็นหลัก อาจเพราะฝึกได้ง่ายและทุกคนสามารถเริ่มได้ทันที (โดยไม่ต้องรอมีปฏิสัมพันธ์กับใคร) และอิงว่าน่าจะมาจากประสบการณ์ของผู้เขียนที่ทำเป็นประจำ จึงนำมาแนะนำวิธีทั้ง 7 นี้ ได้แก่ 

  1. 1
    เขียนบันทึกประจำวัน
  2. 2
    จดบันทึกเกี่ยวกับสุขภาพ
  3. 3
    เขียนรีวิวหนังสือ (นี่อิงกำลังทำ output อยู่นั่นเอง)
  4. 4
    เผยแพร่ข้อมูล
  5. 5
    เขียนลงโซเชียลมีเดีย
  6. 6
    เขียนบล็อก
  7. 7
    เขียนเกี่ยวกับงานอดิเรก

ข้อที่อิงว่าทำได้ง่ายสุด คือ เขียนบันทึกประจำวัน (แต่ก็อาจจะยากสำหรับบางคน) ถ้ายังไม่ได้เขียนและอยากลองเขียน อิงแนะนำหนังสืออีกเล่มค่ะ Bullet Journal Method ค่ะ มีแปลภาษาไทยแล้วด้วย หรือจะลอง search ดูใน youtube ก่อนก็ได้ค่ะ มีคลิปสอนหลักการจดบันทึกโดยผู้เขียนหนังสือ Bullet Journal Method อยู่ใน channel ของเขาเองค่ะ

ความคิดเห็นของฉัน

ก่อนอื่นต้องเข้าใจตรงกันก่อนค่ะว่า หนังสือของคุณคาบาซาวะเขียนจากประสบการณ์เป็นส่วนใหญ่บวกกับการค้นคว้าเพิ่มบ้าง ดังนั้นบางอย่างที่มัน work สำหรับผู้เขียนและสำหรับสังคมญี่ปุ่น อาจไม่เหมาะกับเราและสังคมไทยได้ ก่อนนำมาใช้ต้องพิจารณาด้วยนะคะ

  • อิงว่าหนังสือ the power of output ถือเป็นหนังสือที่อ่านง่าย ทำความเข้าใจได้ไม่ยาก และนำเอาไปใช้ได้จริง 
  • จุดเด่นข้อแรกของหนังสือเล่มนี้ คือ รวบรวมคำแนะนำที่ปกติไม่ได้อยู่ในหนังสือเล่มเดียวกัน (พูด เขียน ทำ)
  • จุดเด่นข้อที่สอง คือ เป็นบทสั้นๆ เน้นการนำไปใช้งาน ทำให้อ่านจบได้เร็วสำหรับผู้เริ่มต้นทำงาน (แต่ถ้าต้องการรู้ให้ลึกขึ้น ต้องไปหาอ่านเพิ่มเองค่ะ)
  • จุดเด่นข้อที่สาม คือ แต่ละบทค่อนข้างเป็นเอกเทศ ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกันค่ะ เราสามารถเลือกอ่านเฉพาะบทย่อยที่เราสนใจได้
  • ข้อควรระวัง: เนื่องจากผู้เขียนให้คำแนะนำจากประสบการณ์ของตัวเองซะส่วนใหญ่ ดังนั้นบางอย่างเราอาจเอาไปใช้แล้วให้ผลไม่เหมือนกัน ต้องดูบริบทการเอาไปใช้ด้วยค่ะ
  • ผู้เขียนออกหนังสือเยอะมาก (อิงเคยอ่านที่แกเขียนไว้เล่มนึง โดยรวมหนังสือเล่มนั้นถือว่าน่าสนใจ เพียงแต่น้ำเยอะไปหน่อย เนื้อมีแค่ประมาณ ไม่ถึง 1 ใน 3) หากเทียบกับเล่มที่อิงเคยอ่าน อิงชอบ the power of output มากกว่า เพราะกระชับกว่าเยอะมาก 

สรุปแล้ว the power of output ถือเป็นหนังสือน่าอ่านหรือไม่?

หากมีโอกาสและมีเวลา (อ่านง่ายค่ะ ประมาณ 3 ชั่วโมงก็จบแล้วค่ะ) อิงแนะนำให้อ่านนะคะ เพราะเทคนิคบางอย่างที่แกเขียนไว้ในหนังสือมีประโยชน์มากทีเดียวค่ะ หยิบมาใช้ได้เลย นอกจากนี้การจะหาหนังสือที่พูดถึงเกือบทุกด้านของการทำ output ในบริบทของการทำงาน ทั้งพูด เขียน และทำ รวมไว้ในเล่มเดียว หายากค่ะ อ่านทีเดียวในเล่มเดียวประหยัดเวลาหาหนังสือไปเยอะค่ะ แล้วอยากรู้เรื่องไหนเพิ่มเติมค่อยไปเรียนรู้กันต่อค่ะ

อ่านรีวิว "The Power of Output" จบแล้ว 

อย่าลืมอ่านรีวิว "The Power of Input" ด้วย

เพื่อเพิ่ม Input สำหรับทำ Output

แนะนำหนังสือน่าอ่านอีกเล่ม

ช่วยพัฒนาวิธีการเขียนให้โน้มน้าวใจได้

เทคนิคไม่ยากนำไปใช้ได้ทันที

Ing

วิศวกรสิ่งแวดล้อมที่หันมาทำงานบริหารโครงการ แต่สนใจเรื่องการนำเสนอมาก
จนอยากจะแบ่งปันสิ่งที่เรียนรู้มาตลอดหลายปี (ไม่กล้าบอกปี เดี๋ยวรู้อายุ) ให้กับผู้อ่านที่น่ารักทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

โพสต์อื่นๆ ที่คุณอาจสนใจ

รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Storytelling with you
รีวิวหนังสือ (น่าอ่าน): Everyday Business Storytelling
รีวิวคอร์สออกแบบสไลด์สไตล์คนงานยุ่ง