เมื่อเดือนที่แล้ว อิงรีวิวหนังสือเกี่ยวกับการจดโน้ตของ Amarin How To ไป ถ้าไม่รีวิวหนังสือในแนวคล้ายๆ กันของ We Learn ก็จะกะไรอยู่ เพราะน่าอ่านทั้งคู่
เรื่องของเรื่องคือ พอทำรีวิวเสร็จ อิงก็นึกขึ้นมาได้ว่าเราเคยอ่านหนังสือแนวนี้อยู่อีกสองเล่มนี่หน่า เขียนโดยชาวญี่ปุ่นเหมือนกันอีกต่างหาก เลยไปรื้อกรุหนังสือดูค่ะ ก็เลยเจอ
“จดโน้ตแบบนี้ สมองชอบจัง”
ส่งยิ้มมาให้อิง แบบว่าลืมฉันไปหรือเปล่า
… ไม่ลืมจ้า ยังเอาเทคนิคบางอย่างไปใช้อยู่เลย
หนังสือแนวนี้ที่อิงอ่านฉบับแปลเป็นไทยไปทั้งหมด 3 เล่ม เดี๋ยวจะทยอยเอามารีวิวให้ครบเลยค่ะ
ก่อนไปอ่านรีวิว แอบสรุปให้นิดนึงค่ะ อิงว่าเล่มนี้อ่านคู่กับเล่มที่รีวิวไปแล้วเข้ากันดีนะคะ ไม่ได้ทับซ้อนกัน แต่เสริมกันนั่นเอง
มาดูรีวิวฉบับเต็มกันค่ะ
More...
เกี่ยวกับผู้เขียน
โคนิชิ โทชิยูกิ เป็นนักคิดคำโฆษณา ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์ และนักเขียนบทละคร อือม... ช่างเป็นอาชีพที่ท้าทายหัวสมองอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการจดโน้ตจึงเป็นเครื่องมือสำคัญของคุณโทชิยูกิ ซึ่งแกก็ย้ำไว้หลายๆ ครั้งในหนังสือว่า โน้ตที่แกจดไว้ช่วยสร้างไอเดียใหม่ๆ ให้แก รวมทั้งเอาตัวรอดในเวลาวิกฤต (ต้องส่งงานแล้ว) ได้ตลอด
หมายเหตุ: ประวัติของผู้เขียนจะช่วยให้เราเข้าใจงานเขียนของเขาได้ดีขึ้น อย่างเช่น คุณโทชิยูกิแบ่งการจดโน้ตออกเป็น 3 แบบ ซึ่งก็สะท้อนมาจากการจดโน้ตที่แกใช้ในการทำงานนั่นเอง ขณะที่คุณมาเอดะ (ผู้เขียนจดโน้ตขั้นเทพ เปลี่ยนกระดาษให้เป็นสมองที่สอง) ให้ความสำคัญกับแนวคิดและแรงบันดาลใจในการจดโน้ต ก็เนื่องมาจากประสบการณ์ของแกที่มองว่า หากไม่รู้ว่าจะจดโน้ตไปทำไม ถึงจดไปก็ไม่มีประโยชน์ ดังนั้นในหนังสือของแกจึงเน้นเกี่ยวกับเรื่องแนวคิดเป็นหลัก
หนังสือเขียนเกี่ยวกับอะไรบ้าง
หนังสือประกอบด้วย 6 บท ได้แก่
#บทนำ
เกริ่นกันเบาๆ ด้วยประโยชน์ของการจดโน้ต และจุดพลิกผันของชีวิตที่ทำให้คุณโทชิยูกิกลายร่างจากนักคิดคำโฆษณาฝีมือห่วย (แกให้คำจำกัดความตัวเองไว้ค่ะ อิงไม่ได้ช่วยตั้ง) เป็นนักคิดคำโฆษณาฝีมือดี จนสุดท้ายเป็นประธานบริษัทของตัวเอง
แน่นอนค่ะ การจดโน้ต คือ กุญแจของความสำเร็จที่แกให้เครดิตไว้ว่าทำให้แกทำงานเก่งอย่างทุกวันนี้
หัวใจสำคัญที่กล่าวถึงในช่วงบทนำ คือ เราต้องจดโน้ตให้ตัวเราเองที่ขี้ลืมในอนาคตอ่านแล้วจำได้ทันที
คุณโทชิยูกิแบ่งการจดโน้ตหลักๆ ไว้ 3 แบบ (ตามประสบการณ์ของแก) คือ
โดยในแต่ละบทจะขยายความการจดโน้ตดังกล่าว พร้อมกับเทคนิคที่ใช้สำหรับการจดโน้ตแต่ละแบบด้วย
#บทที่ 1 การจดโน้ตสำหรับสรุปข้อมูล
เปิดบทมาด้วยคำพูดกระแทกใจ "ข้อมูลที่สรุปมาแล้วเปรียบเสมือน 'อาวุธ' ข้อมูลที่ไม่ได้สรุปเปรียบเสมือน 'ขยะ’"
อือม... คุณว่าคุณสะสมอะไรมากกว่ากัน?
หัวใจสำคัญของการจดโน้ตสำหรับสรุปข้อมูล คือ การใส่เครื่องหมาย คุณโทชิยูกิเขียนขยายความแต่ละกลุ่มเครื่องหมายไว้ในเทคนิคต่างๆ ในบท เช่น เครื่องหมายวงกลมสำหรับเนื้อหาที่สำคัญ เครื่องหมายลูกศรในการเชื่อมโยง และบอลลูนข้อความสำหรับสรุปไอเดีย เป็นต้น
จากประสบการณ์บทนี้เรียนรู้แล้วเอาไปใช้จริงได้ทันทีและเป็นประโยชน์มาก แต่เราอาจดัดแปลงเครื่องหมายให้เหมาะสมกับความคุ้นเคยของตัวเราได้ค่ะ
#บทที่ 2 การจดโน้ตสำหรับคิดไอเดีย
เนื้อหาในบทนี้จะพูดถึงการจดโน้ตสำหรับคิดไอเดีย เทคนิคที่อิงชอบมากที่สุดในบทนี้ คือ จดโน้ตคำถาม (เพื่อกระตุ้นให้คิดไอเดียใหม่) แค่คำถามง่ายๆ ที่เติมคำว่า "จริงๆ หรอ" เข้าไปก็ช่วยกระตุ้นความคิดได้เป็นอย่างดี
อีกเทคนิคนึงที่น่าสนใจ คือ จดโน้ตด้วยการคิดตรงข้าม เป็นการมองสิ่งต่างๆ ในอีกทิศทางนึงที่เราอาจไม่คุ้นเคย จะได้กระตุ้นสมองให้คิดไอเดียใหม่ๆ
ในบทนี้ยังแนะนำเทคนิคการใช้รูปการ์ตูนในการจดโน้ตเพื่อกระตุ้นให้คิดไอเดียใหม่ๆ ที่จริงแนวคิดนี้เป็นที่นิยมและใช้กันอย่างแพร่หลายนะคะ สำหรับคนที่มีฝีมือการวาดเขียนเทียบเท่าเด็กป.4 แบบอิง ก็จะวาดได้แกค่มนุษย์ hangman หน้าตาไม่ค่อยแสดงอารมณ์ แต่ก็พอใช้แทนกันได้อยู่นะคะ
#บทที่ 3 การจดโน้ตสำหรับถ่ายทอดความคิด
เนื้อหาในบทนี้จะนำเสนอการจดโน้ตที่ Advance ไปกว่า 2 แบบแรก โดยมีการใช้เทคนิคแบบนักคิดคำโฆษณามาใช้ โดยการตั้งชื่อหัวเรื่องให้คนอยากอ่านและเข้าใจง่าย อือม... เป็นเทคนิคที่น่าสนใจค่ะ โดยมีพื้นฐานคือ การใช้ชื่อเรื่องบอกเล่าว่าเนื้อหาของเรามีใจความสำคัญอย่างไร
เทคนิคถัดมา คือ การใช้แผนภูมิเข้าช่วย โดยแผนภูมิที่คุณโทชิยูกิแนะนำมี 3 ประเภท คือ แผนภูมิระดับความสำคัญ แผนภูมิบ้าน และแผนภูมิความสัมพันธ์ (คล้าย mind map)
การจดโน้ตในบทนี้ เน้นการจดที่ทำให้คนอื่นเข้าใจได้ง่าย ดังนั้นอาจต้องใช้สมาธิและพลังมากกว่าการจดโน้ตที่ผ่านมาค่ะ
#บทที่ 4 การจดโน้ตแบบเซียน
เนื้อหาในบทนี้จะแชร์เรื่องราวและเทคนิคการจดโน้ตของคุณอิซากะ โคทาโร่ นักเขียนหนังสือขายดีในญี่ปุ่น อ่านเพลินดีค่ะ
#บทส่งท้าย
เน้นย้ำกันอีกครั้งถึงประโยชน์ของการจดโน้ต พร้อมคำอวยพรของคุณโทชิยูกิที่ขอให้การจดโน้ตแบบอนาคตช่วยสร้างอนาคตที่ดีให้กับผู้อ่านทุกคน
ความคิดเห็นของฉัน
ข้อเด่นของหนังสือ how-to ที่แปลจากภาษาญี่ปุ่น คือ แบ่งเป็นหัวข้อย่อยๆ ให้อ่านง่าย และมักมาพร้อมกับการเล่าประสบการณ์เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้อ่าน
หนังสือ 'จดโน้ตแบบนี้ สมองชอบจัง' เป็นไปตามมาตรฐานของหนังสือญี่ปุ่นทุกข้อเลยค่ะ อ่านง่าย อ่านจบได้อย่างรวดเร็ว
สิ่งที่อิงชอบในหนังสือเล่มนี้ คือ เทคนิคในการจดโน้ตที่มีหลากหลายแถมแยกตามประเภทการจดโน้ต (แต่จริงๆ ก็เอาไปใช้ข้ามกันไปมาได้) โดยจะมาพร้อมตัวอย่างการเอาไปประยุต์ใช้เพื่อให้เห็นภาพ อันที่อิงใช้ประจำอยู่แล้วและมีประโยชน์มาก คือ การทำเครื่องหมายและใส่ลูกศรให้โน้ต เทคนิคนี้แนะนำเลยค่ะ ช่วยให้ตอนกลับมาอ่านโน้ตอีกเห็นจุดสำคัญและการเชื่อมโยงได้อย่างง่ายดาย
ในหนังสือมีเทคนิคนึงที่พูดถึงเรื่องการวาดการ์ตูนประกอบเพื่อช่วยในการสร้างสรรไอเดีย เทคนิคนี้เป็นที่นิยมและพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากสนใจศึกษาเพิ่มเติม แนะนำให้หาหนังสือแนว visual thinking และ sketchnote มาอ่านเพิ่มค่ะ
สรุปโดยรวม ถือว่าเป็นหนังสือที่คุ้มค่ากับการอ่านและเอาไปใช้ได้จริง แต่ถ้าให้ดีแนะนำให้อ่านคู่กับอีกเล่มนึง (ที่คุณก็รู้ว่าเล่มไหน) จะได้เสริมและเติมเต็มซึ่งกันและกันค่ะ
อ่านรีวิว "จดโน้ตแบบนี้สมองชอบจัง" แล้ว
อย่าลืมอ่านรีวิว "จดโน้ตขั้นเทพ" ด้วย
จะได้ตัดสินใจเลือกซื้อถูกเล่ม
แล้วหนังสือเล่มไหนน่าซื้อกว่ากัน?
มาเปรียบเทียบหนังสือ 'จดโน้ตแบบนี้สมองชอบจัง' กับ 'จดโน้ตขั้นเทพ' กันดีกว่า